..แหล่งเรียนรู้ด้านการสื่อสารอีกแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า HS7ZRF

 

พีรวิช วรรณทอง

Title with a link - Example of heading 2 

Donec nulla. Aenean eu augue ac nisl tincidunt rutrum. Proin erat justo, pharetra eget, posuere at, malesuada et, nulla. Donec pretium nibh sed est faucibus suscipit. Nunc nisi. Nullam vehicula. In ipsum lorem, bibendum sed, consectetuer et, gravida id, erat. Ut imperdiet, leo vel condimentum faucibus, risus justo feugiat purus, vitae congue nulla diam non urna.

ผู้เขียน : พีรวิช วรรณทอง   หัวข้อ : เลเซอร์อ่าน 2165 / ความคิดเห็น 0
รูปประจำตัว
พีรวิช วรรณทอง
  • 1 กระทู้ที่เริ่มไว้
  • 5 สิงหาคม 2554
รูปไอคอน
หัวข้อ : เลเซอร์
1/9/2554 11:10:00

แสงเลเซอร์

โดยวิรุฬหกกลับ first post: Mon 2 March 2009 last update: Mon 2 March 2009 จากhttp://www.vcharkarn.com/varticle/38409

 

นับตั้งแต่เลเซอร์เครื่องแรกถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1960แสงเลเซอร์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มที่พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แสงเลเซอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันทำประโยชน์อะไรได้บ้าง?

แสงเลเซอร์

 

  บ่อยครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ ในแง่มุมต่างๆอยู่เสมอๆ ยิ่งในภาพยนตร์เรื่องดังเลเซอร์ดูเหมือนจะได้รับบทบาทสำคัญๆอยู่เป็นประจำ ภาพยนตร์ที่นำเสนอแง่มุมในโลกอนาคตแทบจะไม่มีเรื่องไหนเลยที่แสงเลเซอร์จะไม่ได้เข้าไปร่วมเอี่ยวด้วย แสงเลเซอร์ที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านมุมมองนักสร้างหนังเป็นได้ทั้งเป็นทั้งอาวุธไฮเทคที่จะทำลายล้างทุกสรรพสิ่ง หรือในบทบาทของการเยียวยาการผ่าตัดที่ล้ำสมัยและอีกในหลายๆบทบาททำให้แสงเลเซอร์กลายเป็นที่สนอกสนใจของใครหลายๆคน บ้างสงสัยว่าแสงเลเซอร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แสงเลเซอร์สามารถทำอะไรได้บ้าง 

                                   
                                                       แสงเลเซอร์
                                          
        ภาพจาก 
www.weblo.com


หลักการของเลเซอร์
           แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากแสงทั่วๆไป  มีลำแสงขนาดเล็ก มีความเข้มสูงกว่าแสงธรรมดา ทั้งยังมีความเบี่ยงเบนของแสงน้อยกว่า (low-divergence beam) มีความถี่ของแสงเพียงความถี่เดียว
           เลเซอร์(LASER) ตรงกับคำภาษาอังกฤษที่ว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation  ซึ่งแปลความได้ว่า การขยายแสงโดยอาศัยหลักการแผ่รังสีแบบกระตุ้น 
           การขยายแสงคือการเพิ่มจำนวนโฟตอนหรือเพิ่มความเข้มแสงให้มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยปรกติอะตอมหรือโมเลกุลจะอยู่ในชั้นพลังงานต่ำเสมอ (E1) เพราะเป็นสภาวะที่มีความเสถียรภาพมากกว่า แต่เมื่ออะตอมหรือโมเลกุลถูกกระตุ้นก็จะเกิดการดูดกลืนแสงหรือพลังงานที่มากระตุ้นทำให้อะตอมหรือโมเลกุลขึ้นไปอยู่ในชั้นพลังงานที่สูงกว่า(E2)  แต่สถานะพลังงานในชั้นพลังงาน E2 นี้มีความไม่เสถียรจึงสามารถคงตัวได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งจึงคายพลังงานออกมาเพื่อทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะเสถียรอีกครั้งในชั้นระดับพลังงาน E1  
           ดังนั้นพลังงานที่อะตอมหรือโมเลกุลปล่อยออกมาจึงมีค่าเท่ากับผลต่างของพลังงานระหว่าง E2-E1 การคายพลังงานออกมาหรือการเปล่งแสงในลักษณะนี้ เป็นไปตามธรรมชาติเราเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า เปล่งแสงแบบเกิดขึ้นเอง (Spontaneous Emission)

                                     
                                                       ภาพจำลองการเปล่งแสงแบบถูกเร้า
                                                 ภาพจาก 
http://physics.schooltool.n

            แต่สำหรับการเปล่งแสงแบบถูกเร้า (Stimulated Emission) อันเป็นหลักการสำคัญของเลเซอร์นั้น จะแตกต่างกับการเปล่งแสงแบบเกิดขึ้นเองข้างต้น คือเมื่อ อะตอมหรือโมเลกุลขึ้นไปอยู่ที่ระดับพลังงานที่สูงกว่าใน E2 และมีการฉายแสงเข้าไปโดยแสงที่ฉายเข้าไปนั้นจะต้องมีค่าพลังเท่ากับผลต่างของชั้นพลังงานE2-E1ที่อะตอมหรือโมเลกุลได้ดูดกลืนเอาไว้ และแสงที่เข้าไปนี้เองที่จะทำให้อะตอมหรือโมเลกุลคายพลังงานที่ดูดกลืนเอาไว้ก่อนเวลา ทำให้เกิดแสงที่มีขนาดเท่าๆกันทั้งแสงที่ถูกปล่อยออกมาและแสงที่ถูกฉายเข้าไปเพื่อเร้า มีทั้งพลังงานที่เท่ากัน มีทิศทางการเคลื่อนที่เดียวกัน และเฟสของคลื่นที่เหมือนกัน ซึ่งหลักการอันนี้เองที่นำมาใช้กับเทคโนโลยีเลเซอร์ 
           เมื่ออะตอมหรือโมเลกุลของเนื้อวัสดุที่นำมาใช้ทำเลเซอร์อยู่ในสภาวะถูกกระตุ้นดังกล่าวแสงเคลื่อนที่ผ่านเนื้อวัสดุของเลเซอร์ที่ถูกกระตุ้นก็ยิ่งทำให้ เกิดการคายแสงมากขึ้นทำให้ความเข้มแสงเพิ่มขึ้นนั้นเอง หรือการได้ว่าจำนวนโฟตอนเพิ่มมากขึ้นนั้นเองหลักการนี้คือการขยายแสงพื่อให้โฟตอนมีจำนวนมากพอ ซึ่งกระทำโดยการใช้กระจก 2 ชิ้นวางขนานกันที่ปลายทั้งสองของเนื้อวัสดุ กระจกทั้งสองนี้เรียกว่า Optical Cavity ที่จะทำหน้าที่สะท้อนส่องให้โฟตอนวิ่งไปวิ่งมาในเนื้อวัสดุอันเป็นตัวกลางเลเซอร์จนได้ปริมาณมากพอและเมื่อมีความเข้นสูงจนเกิด Gain ที่มีค่ามากกว่าพลังงานของระบบลำแสงของเลเซอร์จึงพุ่งออกมา
เลเซอร์จัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีคุณสมบัติที่เรียกว่า คุณสมบัติโคฮีเรนต์ (coherent) คือ มีแสงสีเดียว มีเฟสเดียวกัน มีทิศทางที่แน่นอน และ มีความเข้มของแสงสูง 

การค้นพบ
           เลเซอร์เป็นอุปกรณ์ ที่ให้กำเนิดแสง โดยพลังงานจากแสงเลเซอร์ มีคุณสมบัติที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการออกแบบและการนำไปใช้งาน การค้นพบเลเซอร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954  โดย ซี. เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ได้เสนอเป็นหลักการหรือทฤษฎีเกี่ยวกับเลเซอร์เอาไว้ ซึ่งผลงานในครั้งนั้นทำให้เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขา ฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1964
           หลักการของ ซี. เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ก่อให้เกิดแรงผลักดันให้มีการศึกษาและสานต่อเรื่องเทคโนโลยีเลเซอร์จนมีวิวัฒนาการที่กว้าหน้ามาเป็นลำดับโดยในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1960  ทีโอดอร์ ไมแมน (Theodore Maiman) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ขึ้นที่สถาบันวิจัย ฮิวจ์ (Hughes Research Laboratories) 
           ทีโอดอร์ ไมแมนนำหลักการของซี. เอช.ทาวน์สมาประดิษฐ์เลเซอร์เครื่องแรกของโลกขึ้นโดยเป็นเลเซอร์ที่ทำจากทับทิม(Ruby L aser)ซึ่งจัดว่าเป็นเลเซอร์ของแข็งและในปีเดียวกันนั้นเองจาแวน (Javan) ก็ได้ประดิษฐ์ เลเซอร์ที่ทำจากก๊าซฮีเลียม-นีออนได้เป็นผลสำเร็จซึ่งถือว่าเป็นเลเซอร์แบบก๊าซ จากนั้นพัฒนาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลเซอร์ก็พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีการผลิดเลเซอร์ชนิดต่างๆออกมามากมาย  ซึ่งมีทั้งที่ทำจาก ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ และจากสารกึ่งตัวนำจำพวกไดโอด
                             
                                                C.H. Townes
          ภาพจาก http://th.physik.uni-frankfurt.de/~jr/physpicexp2.html


เครื่องฉายเลเซอร์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ 
           1. เนื้อวัสดุที่ใช้ทำตัวกลางเลเซอร์ (Laser Medium)
           2. การปั๊มพลังงานทำให้เนื้อวัสดุที่เป้นตัวกลางของเลเซอร์มีสภาพถูกกระตุ้น
           3. Optical Cavity

นอกจากจะมีส่วนประกอบที่สำคัญทั้งสามประการแล้ว เรายังสามารถแบ่งเลเซอร์ออกเป็นชนิดได้ตาม เนื้อวัสดุตัวกลาง ดังนี้ 

ชนิดของเลเซอร์
1.เลเซอร์ของแข็ง
            เลเซอร์ชนิดนี้จะใช้ตัวกลาางที่เป็นของแข็ง โดยเลเซอร์ตัวแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดย ทีโอดอร์ ไมแมน (Theodore Maiman) ก็เป็นของแข็งด้วยเช่นกัน ของแข็งที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลเซอร์ มีทั้ง  เลเซอร์ทับทิม เลเซอร์แย็ค เลเซอร์แก้ว ฯลฯ โดยจะมีการใส่สารเจือปนลงไปในวัสดุดังกล่าวด้วย ทับทิมจะใช้โครเมียมเป็นสารเจือปนส่วนแย็คและแก้วจะใช้นีโอดีเนียมเป็นสารเจือปน
 การปั๊มพลังงานของเลเซอร์ของแข็งจะทำโดยใช้แสงจากหลอดไฟซีนอนหรือหลอดไฟทังสเตนโดยมี Optical Cavity ทำหน้าที่สะท้อนแสงเพื่อเพิ่มโฟตอน

2. เลเซอร์ก๊าซ
            เลเซอร์ชนิดนี้จะนำก๊าซมาทำเป็นตัวกลางของวัสดุ ซึ่งมีก๊าซหลายชนิดที่นำมาใช้เป็นตัวกลางได้เช่น ก๊าซผสมฮีเลียม - นีออน (He - Ne) ก๊าซผสมฮีเลียม - แคดเมียม (He - Cd) ก๊าซผสมคาร์บอนไดออกไซด์ - ไนโตรเจน - ฮีเลียม (CO2-N2-He)
การปั๊มพลังงาน ของเลเซอร์แบบก๊าซจะทำโดยการนำก๊าซบรรจุลงในหลอดเลเซอร์โดยที่ปลายหลอดทั้งสองจะมีขั้วไฟฟ้าต่ออยู่ เมื่อป้อนไฟฟ้าแรงสูงให้แก่ขั้วไฟฟ้าทั้งสอง อิเล็กตรอนจะวิ่งจากขั้ว แคโทด(-) ไปยังขั้วแอโนด(+) เมื่ออิเล็กตรอนวิ่งชนอะตอมหรือโมเลกุลของก๊าซก็จะเกิดการแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า พลาสมา (Plasma) ซึ่งพร้อมจะปล่อยโฟตอนออกมา และเมื่อมีโฟตอนที่มีขนาดเท่ากันไปเร้าก็จะทำให้เกิดแสงเลเซอร์ขึ้น

3.เลเซอร์ของเหลว
            เลเซอร์ชนิดนี้มักจะใช้สีย้อมผ้า(Dye) ผสมน้ำหรือแอลกฮอล์ บรรจุใส่ภาชนะใส ทำให้ตัวกลางของเลเซอร์ชนิดนี้มีสถานะเป็นของเหลว สีย้อมผ้าที่นิยมนำมาใช้เช่น โรดามีน ๖ จี (Rhodamine 6 G) คลอโรฟลูออเรสเซียน (Dichloro fluore scein) เป็นต้น
           การปั๊มพลังงานในเลเซอร์ชนิดนี้จะทำโดยการใช้แสงเช่นเดียวกับเลเซอร์ของแข็ง


4. เลเซอร์ไดโอด
           ไดโอดเป็นสารกึ่งตัวนำ ไดโอดที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวกลางเลเซอร์ เช่นไดโอดจากสาร แกลเลียมอาร์เซไนด์ (GaAs)แกลเลียมอะลูมิเนียมอาร์เซไนด์ (GaAlAs)อินเด ียมแกลเลียมอาร์เซไนด์ฟอสฟายด์ (InGaAsP)
           การปั๊มพลังงานของเลเซอร์ชนิดนี้ จะทำโดยการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านรอยต่อP-N ทำให้เกิดการรวมตัวกันของพาหะนำไฟฟ้าของสารกึ่งตัวนำ และมีการขยายความเข้มด้วย Optical Cavity  ทำให้เกิดแสงเลเซอร์ขึ้น

ประโยชน์ของแสงเลเซอร์
           ในปัจจุบันแสงเลเซอร์กลายเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาศาสตร์ต่างๆบรรลุเป้าหมาย และ เลเซอร์ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง ในคราวที่ Neil Armstrong และ Edwin Aldrin ได้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์พวกเขาได้นำแผงกระจกสะท้อนแสงไปวางไว้ด้วย หลังจากนั้นอีก 10 วันต่อมา คณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและเทกซัสได้ยิงแสงเลเซอร์ไปตกกระทบยังแผงกระจกดังกล่าว ที่ห่างออกไปจากโลกราว 385,000 กิโลเมตร แสงเลเซอร์สะท้อนกลับมาเพียงชั่ววินาที ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณ ความเร็วแสง และระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ
            แม้ในช่วงแรกการพัฒนาวิจัยกับเกี่ยวแสงเลเซอร์จะเน้นไปทางการทหาร แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเลเซอร์กำลังถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกวงการ เหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด แม่นยำ

- ด้านการทหาร
            แสงเลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการชี้เป้าของ เครื่องบิน จรวดนำวิถี รถถังเพื่อให้การดโจมตีเป้าหมายมีความแม่นยำและไม่ก่อผลเสียหายให้แก่บริเวณข้างเคียง
       
- ด้านอุตสาหกรรม 
            เลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการตัด เจาะ เชื่อม ชิ้นงานต่างๆที่ต้องการความละเอียดและมีความแม่นยำสูง ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เลเซอร์สำคัญอย่างมากในการผลิตไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็ก ทั้งยังช่วยให้ขบวนการผลิตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
                       
                                           เลเซอร์ในอุตสาหกรรม
                                 ภาพจาก 
https://newsline.llnl.gov
- ด้านการแพทย์
            แสงเลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดที่ต้องการความแม่นยำสูง หรือในสภาพที่การผ่าตัดแบบธรรมดากระทำได้ยาก เช่นการผ่าตัดโรคเกี่ยวกับดวงตา สมอง   ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ก็ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลข้างเคียงทั้งยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแผลเป็นหลังการผ่าตัดมากนัก

- ด้านดาราศาสตร์

            แสงเลเซอร์จะทำหน้าที่เพื่อสำรวจความแปรปรวนของอากาศเพื่อช่วยในการปรับโฟกัสของกล้องโทรทัศน์ที่ใช้ดูดาว

- ด้านโทรคมนาคม
            ถือว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของแสงเลเซอร์เพราะเทคโนโลยีแสงเลเซอร์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงเพื่อใช้ถ่ายทอดสัญญาณ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และข้อมูลต่างๆมากมาย จุดเด่นที่สำคัญคือการไม่มีสัญญาณรบกวน และมีความจุของข้อมูลมาก ซึ่งเส้นใยแก้วนำแสง 1 เส้นสามารถ บรรจุคู่สายโทรศัพท์ได้นับพันคู่สายเลยทีเดียว 
           เหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคุณประโยชน์ที่เกิดจากเทคโนโลยีแสงเลเซอร์แสงเลเซอร์ยังสามารถทำอะไรได้มากมาย ในชีวิตประจำวันของเราก็ล้วนแต่ต้องใช้ประโยชน์จากมันเพิ่มขึ้นทุกวันไม่ว่าในเครื่องเล่นแผ่น CD DVD ต่างๆล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากเทคโนโลยีชนิดนี้ นับแต่หลักการเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ถูกเสนอโดยซี.เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ในปีค.ศ. 1954 เทคโนโลยีชนิดนี้ก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาต่อไป จนกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้

  เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว

โดย  Health Plus  first post: Mon 22 March 2010 last update: Mon 22 March 2010 http://www.vcharkarn.com/varticle/40533

การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วย เลเซอร์ ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกต่อไปจริงหรือ มาหาคำตอบ พร้อม กับวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้กัน

 

เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว


          การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วย เลเซอร์ ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกต่อไปจริงหรือ มาหาคำตอบ พร้อม   กับวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้กัน
          คุณทำแว่นหายหรือไม่ก็ทำคอนแทค์เลนส์หล่นหายบนพื้นห้องน้ำเป็นประจำ หรือไม่ก็ต้องใช้สายตาเพ่งมองสายรถเมล์จนตาแทบเหล่ เหตุผลเพราะไม่ชอบสวมแว่นในที่สาธารณะ ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำเลเซอร์ตาก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในแต่ละปีมีคนประมาณ 7 หมื่นคนในอังกฤษ ที่ใช้เลเซอร์ช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตา ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ วิธีดังกล่าวกลายเป็นกระแสหลักในการรักษาความผิดปกติของสายตา ว่าแต่มันเหมาะกับคุณหรือเปล่า

ใครกันที่เหมาะจะทำเลเซอร์ 
          ถ้าคุณป่วยเป็นเบาหวานที่คุมไม่ได้ (uncontrolled diabetes) มีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบประสาท หรือเป็นโรคตาแห้งเรื้อรัง คุณลืมวิธีเลเซอร์ไปได้เลย แต่ถ้าคุณสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์ต่อเนื่อง จึงทำให้สายตาคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนี้เลเซอร์ช่วยคุณได้

          ก่อนรักษาด้วยวิธีเลเซอร์ จักษุแพทย์จะวัดพื้นผิวตาและสแกนดูรายละเอียดต่างๆ ของตาเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเหมาะจะทำเลเซอร์

          การรักษามีหลากหลายขึ้นกับแต่ละคน แต่โดยมากจักษุแพทย์ จะใช้วิธีผ่าตัดด้วยเลเซอร์ กับคนที่มีกำลังการมองเห็นของแว่นตาระหว่าง +2 และ -8 ไดออปเตอร์ แต่การผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะได้ผลดีที่สุด ถ้ากำลังการมองเห็นอยู่ที่ระหว่าง -1/2 ถึง -6

          " ไม่ว่าคลินิกแพทย์จะบอกอะไรกับคุณ จำไว้ว่าการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ให้ผลดีในกรณีที่ความผิดปกติของสายตาที่ต้อง แก้ไขมีไม่มาก" ศจ.จอห์น มาร์แชล ฟรอส ศาสตราจารย์ด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับตาแห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอนกล่าว

ประสิทธิภาพดีแค่ไหน   
          การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยเลเซอร์มีให้เลือกหลายวิธี ซึ่งจะไปแก้ไขรูปร่างของกระจกตา (เป็นเลนส์แข็งที่อยู่ด้านหน้าของตา) ปัญหาสายตาเกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดเพี้ยน ทำให้แสงไม่สามารถตกลงบนเรตินาที่ด้านหลังตา ทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพให้ชัดเจน มองเห็นราง ๆ เลเซอร์จะแก้ไขรูปร่างของกระจกตาด้วยการตัดเนื้อเยื่อออกจากตา แต่จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับลักษณะของกระจกตา

          PRK (Photorefractive Keratectomy) นี่เป็นเทคนิคดั้งเดิม การเลเซอร์ด้วยวิธีนี้เจ็บกว่าวิธีอื่น เป็นการใช้เลเซอร์ฉายลงไปตรงกลางกระจกตา หลังขูดผิวกระจกตาออก เนื้อกระจกตาจะถูกตัดหายไป ทำให้ความโค้งของกระจกตาลดลง มีผลให้สายตากลับมาเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้มีสายตาสั้นหรือยาวไม่มาก ใช้เวลาในการรักษานานกว่าวิธีเลสิก

          LASIK (Laser Assisted In Situ Keratomileusis) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา เพื่อทำฝาเปิดชั้นนอก คล้ายการฝานชั้นบนสุดของไข่ต้ม หลังจากนั้นจึงฉายเลเซอร์ลงไปบนชั้นในของกระจกตาโดยตรง แล้วปิดฝากกระจกตากลับลงมาที่เดิม วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวทุกขนาด ข้อดีคือไม่ต้องขูดผิวกระจกตาออกเหมือนวิธีแรก จึงไม่ก่อให้เกิดแผลถลอกเป็นวงกว้างบนกระจกตา อาการเจ็บหรือระคายเคืองตาหลังการรักษาจะน้อยกว่า และแผลจะหายเร็วกว่าวิธีแรก

          LASEK (Laser Epithelial Keramileusis) เป็นเทคนิคล่าสุดที่มาแทนการแยกชั้นกระจกตาอย่าง LASIK เป็นการยิงเลเซอร์ที่ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา โดยใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการลอกผิวกระจกตาออก ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถขูดผิวกระจกตาลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อยิงเลเซอร์เสร็จ สามารถปิดผิวกระจกตาที่ลอกเป็นแผ่นไว้นั้นกลับไปได้ จากนั้นแพทย์มักให้ผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากจะมีอาการระคายเคืองจากแผลที่กระจกตา ต้องรอจนผิวกระจกตาสมานดีแล้วจึงถอดคอนแทคเลนส์ออก LASEK เหมาะสำหรับการแก้ไขค่าสายตาระดับต่ำ (-4 ไดออปเตอร์หรือต่ำกว่า)

          "ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง การผ่าตัดด้วยการเลเซอร์ช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติดังกล่าวได้"

เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
          เทคโนโลยี Wavefront เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาค่าสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรักษาค่าสายตาผิดปกติได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เทคโนโลยี Wavefront จะใช้หลักการในการใช้แสงความยาวคลื่นเดียว ไปกระทบที่พื้นผิวของกระจกตาทะลุผ่านไปยังส่วนหลังของลูกตา และสะท้อนกลับจากบริเวณเรตินาออกสู่ภายนอก ค่าของแสงที่สะท้อนกลับออกมา จะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ทำให้แพทย์สามารถสร้างแผนที่ลูกตาได้ ทำให้การรักษาด้วยวิธี LASIK และ LASEK แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคุณภาพในการมองเห็นที่ดีขึ้น

          Wavefront กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากนำไปสู่วิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตา ด้วยการศัลยกรรมที่เรียกว่า super-sight อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้ เดวิด การ์ทรี้ แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลมัวร์ฟิลด์อาย (Moorfields Eye Hospital) ในลอนดอน และเป็นคนแรกที่ใช้วิธี Wavefront รักษาผู้มีสายตาสั้นในอังกฤษเตือนว่า แม้ Wavefront ให้ผลทดสอบการมองเห็นที่เที่ยงตรงแม่นยำ แต่ก็ขึ้นกับคุณภาพของเลเซอร์และการผันแปรในการรักษา Wavefront อาจไม่ทำให้การมองเห็นของคุณชัดแจ๋วก็ได้

ผลกระทบในระยะยาว
          แม้ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ใช้เวลาเล็กน้อยในการรักษา แต่ผลกระทบในระยะยาวยังเป็นที่ตั้งคำถาม "ผลการศึกษาชี้ว่าการรักษาด้วยวิธี PRK และ LASEK จะทำให้สายตาคงที่ ขณะที่ LASIK ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน" ศจ.จอห์น มาร์แชล แห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน กล่าว "PRK และ LASEK ใช้แค่การขูดผิวกระจกตา แต่ LASIK เป็นการตัดผ่านความหนาของตาถึง 1/3 เราจึงไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของลูกตาหรือไม่"

          แต่ เดวิด การ์ทรี้ เชื่อว่าตราบที่คนเรายังทำตามคำแนะนำที่แพทย์สั่ง อย่าใช้วิธีผ่าตัดที่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อออกไปเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่น่าจะมีปัญหาตามมาในอนาคต "หากคุณเข้ารับการผ่าตัดและมีแผลเป็นหลงเหลือ แผลเป็นนั้นอาจจะหายไปเองหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่หาย ก็อาจจะกลับมากำเริบได้ ภายในเวลา 10 ปี" เขากล่าว "ไม่มีใครการรันตีได้ว่าภายใน 10 ปีนับจากนี้สายตาของคุณจะไม่กลับมามีปัญหาอีก แต่สำหรับผมคงทึ่งมาก ถ้าการรักษาด้วยเลเซอร์ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว"

ข้อดี   
          สะดวก
          ส่วนมากคนสายตาสั้นจะเริ่มสวมแว่นในช่วงต้นวัยรุ่น ดังนั้นช่วง 2-3 ปี แรกให้สวมแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ดีกว่า นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของตาเสื่อมลง นั่นหมายความว่าเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ตอนกลาง คุณต้องการแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือและแว่นตาสำหรับมองไกล

          " ตาของคุณจะแห้งลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นการใส่คอนแทคเลนส์จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่คนในวัย 50 จะใส่คอนแทคเลนส์ แต่ต้องสวมแว่น" เดวิด การ์ทรี้ อธิบาย

          "นั่นหมายความว่าคนวัย 50 จำเป็นต้องมีแว่นตา 2 อัน และบ่อยครั้ง ที่พวกเขาหันไปพึ่งการผ่าตัด เพื่อให้เหลือแค่แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือเพียงอันเดียว"

          สำหรับคนที่สายตาสั้นไม่มาก มีวิธีรักษาที่เรียกว่า โมโนวิชั่น (monovision) นั่นหมายความว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องมีแว่นตาสองอัน

          "ในระหว่างผ่าตัด เราจะไม่แก้ไขสายตาสั้นให้ตาทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อให้ตาข้างหนึ่งสามารถมองไกล และอีกข้างสำหรับอ่านหนังสือ" เดวิด คาร์ทไรท์ ผู้อำนวยการด้านบริการของบู๊ทส์ออฟติเชี่ยน (Boots Optician) กล่าว

          "คนส่วนมากจะไม่รู้เลยว่าตาข้างไหนเป็นแบบไหน เราให้คนไข้ลองสวมคอนแทคเลนส์สัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อดูผล ซึ่งพวกเขาจะรู้ว่ามันได้ผลกับพวกเราหรือไม่"

          รวดเร็ว ไม่เจ็บ
          เทคนิคล่าสุดในการแก้ไขความผิดปกติของสายตามีความรวดเร็วและไม่เจ็บ "คนส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น" เดวิด คาร์ทไรท์ บอกในระหว่างผ่าตัดด้วยเลเซอร์ คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ แม้บางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายบ้าง คนไข้บางคนบอกว่าสายตาของเขาดีขึ้นเกือบจะในทันที และการมองเห็นจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในวันรุ่งขึ้น

          ฟื้นตัวเร็ว
          ระยะเวลาในการรักษาตัวแตกต่างกัน สำหรับคนที่ทำ LASIK เพียงแค่สวมเกราะครอบตาหนึ่งคืนหลังออกจากคลินิก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยี้ตา และใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะนาน 2-3 สัปดาห์ LASEK และ PRK ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า คนไข้ต้องใส่ซอฟท์คอนแทคเลนส์ เพื่อป้องกันขณะรักษาตัว

          การแก้ไขระยะยาว
          เมื่อการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ผ่านไปอย่างราบรื่น ผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจ "ตาจะเข้าที่เป็นปกติหลังผ่านไป 1 เดือน สายตาจะคงที่" เดวิด คาร์ทไรท์กล่าว "คนที่สวมแว่นตาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจะขาดแว่นไม่ได้ LASIK เป็นวิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตาแบบถาวร หากใช้กับคนเหมาะสม ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงชีวิต"

          "การรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า monovision ซึ่งทำให้คุณไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสองเลนส์อีก"

ข้อเสีย    
          ไม่รับรองความชัดแจ๋ว
          "สิ่งสำคัญที่คนคาดหวังคือหลังแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์แล้ว การมองเห็นจะชัดแจ๋ว แต่นั่นอาจทำให้คุณผิดหวังได้" เดวิด การ์ทรี้ กล่าว

          หากการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง ประมาณ 5% ของคนไข้ที่ต้องกลับมาแก้ไขสายตาใหม่ "เราไม่ต้องการทำให้คนสายตาสั้นมีสายตายาว เราจะแก้ไขสายตาโดยปรับสายตาให้สั้นน้อยลงอีกเล็กน้อย ถ้ายังชัดไม่พอ เราจะผ่าตัดซ้ำให้อีก โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด" เดวิด คาร์ทไรท์ อธิบาย

          ยังต้องพึ่งแว่นตา
          การผ่าตัดสายตาด้วยเลเซอร์โดยเฉพาะในรายที่มีอายุ 40 และ 50 ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถโยนแว่นตาทิ้งลงขยะได้ "เราจะไม่ใช้การรักษาด้วยเลเซอร์กับคนที่มีสายตาเป็นปกติมาตลอดชีวิต แต่ต้องมาใส่แว่นอ่านหนังสือตอนอายุเข้าเลข 4 คนเหล่านี้ไม่เหมาะกับวิธีนี้ เพราะจะไปทำลายการมองเห็นระยะไกล" เดวิด การ์ทรี้กล่าว

          ราคาแพง
          การแก้ไขสายตาให้ดีขึ้นด้วยเลเซอร์มีราคาสูงประมาณ 30,000-60,000 บาท ขึ้นกับตา 1 ข้างหรือ 2 ข้าง เลเซอร์ยังเหมาะกับคนที่มีปัญหาในการใส่แว่นตาเช่น เป็นโรคพาร์กินสัน หรือเป็นโรคในกลุ่มทำลายเซลล์ประสาท ที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในร่างกาย (Motor Neuronedisease)

          ผลข้างเคียง
          ผลข้างเคียงมีหลากหลายตั้งแต่ตาแห้งไปจนถึงตาฟาง ตามัว มองเห็นภาพเบลอๆ "ประมาณ 30% ของคนไข้จะรู้สึกตาแห้งและเคืองตาเหมือนมีผงเข้าตาหลังผ่าตัดเสร็จ แต่อาการดังกล่าจะหายไปเองภายในหนึ่งเดือน" เดวิด การ์ทรี้กล่าว

          "ความบกพร่องอีกประการคือปัญหาเทคนิคในการผ่าตัด หากการผ่าตัดไม่เรียบร้อยหรือแม่นยำเพียงพอ หรือมีอะไรผิดปกติที่เครื่องมือผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 คน แต่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดใด ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แทบทั้งสิ้น"

          เพื่อให้การรักษาได้ผลเป็นเลิศ ขอรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ     

          อย่าตัดสินใจเลือกคลินิกเลเซอร์ตามคำโฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเพียงอย่างเดียว

          ไปคลินิกที่ให้ริการพร้อมคุยกับจักษุแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด ในบางคลินิกคุณจะไม่ได้พบแพทย์จนกว่าจะผ่าตัด ระวัง...นี่คือข่าวร้าย เพราะคุณอาจเจอปัญหาตามมาได้

          อย่าอายที่จะตั้งคำถาม ถามแพทย์ผู้ผ่าตัดว่าเขาเคยผ่าตัดคนไข้มากี่รายแล้ว แล้วพบปัญหายุ่งยากบ้างไหม

          อย่าสร้างความกดดันให้ตัวเองในการตัดสินใจ อย่าไขว้เขวไปกับคำยุยงส่งเสริมที่ให้คุณควรผ่าตัดในวันนั้นวันนี้

          ทำตามข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังการผ่าตัดที่คลินิกแนะนำ

          หากมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัด ควรไปพบแพทย์ทันที เดวิด การ์ทรี้แนะ "มีปัญหามากมายที่แก้ไขได้ง่าย ควรเปิดโอกาสให้แพทย์ได้ลงมือแก้ไข"


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากHealth Plus



 


สร้างเว็บแบบมืออาชีพได้อย่างง่ายๆ กับ เว็บไซต์สำเร็จรูปของ " สยามทูเว็บ " www.siam2web.com


เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อน เข้าสู่ระบบ

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  371,515
Today:  5
PageView/Month:  2,874

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com