..แหล่งเรียนรู้ด้านการสื่อสารอีกแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า HS7ZRF

 

 

ผู้เขียน : พีรวิช วรรณทอง   หัวข้อ : เลเซอร์อ่าน 2154 / ความคิดเห็น 0
รูปประจำตัว
พีรวิช วรรณทอง
  • 1 กระทู้ที่เริ่มไว้
  • 5 สิงหาคม 2554
รูปไอคอน
หัวข้อ : เลเซอร์
1/9/2554 11:10:00

แสงเลเซอร์

โดยวิรุฬหกกลับ first post: Mon 2 March 2009 last update: Mon 2 March 2009 จากhttp://www.vcharkarn.com/varticle/38409

 

นับตั้งแต่เลเซอร์เครื่องแรกถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1960แสงเลเซอร์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มที่พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แสงเลเซอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันทำประโยชน์อะไรได้บ้าง?

แสงเลเซอร์

 

  บ่อยครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ ในแง่มุมต่างๆอยู่เสมอๆ ยิ่งในภาพยนตร์เรื่องดังเลเซอร์ดูเหมือนจะได้รับบทบาทสำคัญๆอยู่เป็นประจำ ภาพยนตร์ที่นำเสนอแง่มุมในโลกอนาคตแทบจะไม่มีเรื่องไหนเลยที่แสงเลเซอร์จะไม่ได้เข้าไปร่วมเอี่ยวด้วย แสงเลเซอร์ที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านมุมมองนักสร้างหนังเป็นได้ทั้งเป็นทั้งอาวุธไฮเทคที่จะทำลายล้างทุกสรรพสิ่ง หรือในบทบาทของการเยียวยาการผ่าตัดที่ล้ำสมัยและอีกในหลายๆบทบาททำให้แสงเลเซอร์กลายเป็นที่สนอกสนใจของใครหลายๆคน บ้างสงสัยว่าแสงเลเซอร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แสงเลเซอร์สามารถทำอะไรได้บ้าง 

                                   
                                                       แสงเลเซอร์
                                          
        ภาพจาก 
www.weblo.com


หลักการของเลเซอร์
           แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากแสงทั่วๆไป  มีลำแสงขนาดเล็ก มีความเข้มสูงกว่าแสงธรรมดา ทั้งยังมีความเบี่ยงเบนของแสงน้อยกว่า (low-divergence beam) มีความถี่ของแสงเพียงความถี่เดียว
           เลเซอร์(LASER) ตรงกับคำภาษาอังกฤษที่ว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation  ซึ่งแปลความได้ว่า การขยายแสงโดยอาศัยหลักการแผ่รังสีแบบกระตุ้น 
           การขยายแสงคือการเพิ่มจำนวนโฟตอนหรือเพิ่มความเข้มแสงให้มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยปรกติอะตอมหรือโมเลกุลจะอยู่ในชั้นพลังงานต่ำเสมอ (E1) เพราะเป็นสภาวะที่มีความเสถียรภาพมากกว่า แต่เมื่ออะตอมหรือโมเลกุลถูกกระตุ้นก็จะเกิดการดูดกลืนแสงหรือพลังงานที่มากระตุ้นทำให้อะตอมหรือโมเลกุลขึ้นไปอยู่ในชั้นพลังงานที่สูงกว่า(E2)  แต่สถานะพลังงานในชั้นพลังงาน E2 นี้มีความไม่เสถียรจึงสามารถคงตัวได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งจึงคายพลังงานออกมาเพื่อทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะเสถียรอีกครั้งในชั้นระดับพลังงาน E1  
           ดังนั้นพลังงานที่อะตอมหรือโมเลกุลปล่อยออกมาจึงมีค่าเท่ากับผลต่างของพลังงานระหว่าง E2-E1 การคายพลังงานออกมาหรือการเปล่งแสงในลักษณะนี้ เป็นไปตามธรรมชาติเราเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า เปล่งแสงแบบเกิดขึ้นเอง (Spontaneous Emission)

                                     
                                                       ภาพจำลองการเปล่งแสงแบบถูกเร้า
                                                 ภาพจาก 
http://physics.schooltool.n

            แต่สำหรับการเปล่งแสงแบบถูกเร้า (Stimulated Emission) อันเป็นหลักการสำคัญของเลเซอร์นั้น จะแตกต่างกับการเปล่งแสงแบบเกิดขึ้นเองข้างต้น คือเมื่อ อะตอมหรือโมเลกุลขึ้นไปอยู่ที่ระดับพลังงานที่สูงกว่าใน E2 และมีการฉายแสงเข้าไปโดยแสงที่ฉายเข้าไปนั้นจะต้องมีค่าพลังเท่ากับผลต่างของชั้นพลังงานE2-E1ที่อะตอมหรือโมเลกุลได้ดูดกลืนเอาไว้ และแสงที่เข้าไปนี้เองที่จะทำให้อะตอมหรือโมเลกุลคายพลังงานที่ดูดกลืนเอาไว้ก่อนเวลา ทำให้เกิดแสงที่มีขนาดเท่าๆกันทั้งแสงที่ถูกปล่อยออกมาและแสงที่ถูกฉายเข้าไปเพื่อเร้า มีทั้งพลังงานที่เท่ากัน มีทิศทางการเคลื่อนที่เดียวกัน และเฟสของคลื่นที่เหมือนกัน ซึ่งหลักการอันนี้เองที่นำมาใช้กับเทคโนโลยีเลเซอร์ 
           เมื่ออะตอมหรือโมเลกุลของเนื้อวัสดุที่นำมาใช้ทำเลเซอร์อยู่ในสภาวะถูกกระตุ้นดังกล่าวแสงเคลื่อนที่ผ่านเนื้อวัสดุของเลเซอร์ที่ถูกกระตุ้นก็ยิ่งทำให้ เกิดการคายแสงมากขึ้นทำให้ความเข้มแสงเพิ่มขึ้นนั้นเอง หรือการได้ว่าจำนวนโฟตอนเพิ่มมากขึ้นนั้นเองหลักการนี้คือการขยายแสงพื่อให้โฟตอนมีจำนวนมากพอ ซึ่งกระทำโดยการใช้กระจก 2 ชิ้นวางขนานกันที่ปลายทั้งสองของเนื้อวัสดุ กระจกทั้งสองนี้เรียกว่า Optical Cavity ที่จะทำหน้าที่สะท้อนส่องให้โฟตอนวิ่งไปวิ่งมาในเนื้อวัสดุอันเป็นตัวกลางเลเซอร์จนได้ปริมาณมากพอและเมื่อมีความเข้นสูงจนเกิด Gain ที่มีค่ามากกว่าพลังงานของระบบลำแสงของเลเซอร์จึงพุ่งออกมา
เลเซอร์จัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีคุณสมบัติที่เรียกว่า คุณสมบัติโคฮีเรนต์ (coherent) คือ มีแสงสีเดียว มีเฟสเดียวกัน มีทิศทางที่แน่นอน และ มีความเข้มของแสงสูง 

การค้นพบ
           เลเซอร์เป็นอุปกรณ์ ที่ให้กำเนิดแสง โดยพลังงานจากแสงเลเซอร์ มีคุณสมบัติที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการออกแบบและการนำไปใช้งาน การค้นพบเลเซอร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954  โดย ซี. เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ได้เสนอเป็นหลักการหรือทฤษฎีเกี่ยวกับเลเซอร์เอาไว้ ซึ่งผลงานในครั้งนั้นทำให้เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขา ฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1964
           หลักการของ ซี. เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ก่อให้เกิดแรงผลักดันให้มีการศึกษาและสานต่อเรื่องเทคโนโลยีเลเซอร์จนมีวิวัฒนาการที่กว้าหน้ามาเป็นลำดับโดยในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1960  ทีโอดอร์ ไมแมน (Theodore Maiman) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ขึ้นที่สถาบันวิจัย ฮิวจ์ (Hughes Research Laboratories) 
           ทีโอดอร์ ไมแมนนำหลักการของซี. เอช.ทาวน์สมาประดิษฐ์เลเซอร์เครื่องแรกของโลกขึ้นโดยเป็นเลเซอร์ที่ทำจากทับทิม(Ruby L aser)ซึ่งจัดว่าเป็นเลเซอร์ของแข็งและในปีเดียวกันนั้นเองจาแวน (Javan) ก็ได้ประดิษฐ์ เลเซอร์ที่ทำจากก๊าซฮีเลียม-นีออนได้เป็นผลสำเร็จซึ่งถือว่าเป็นเลเซอร์แบบก๊าซ จากนั้นพัฒนาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลเซอร์ก็พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีการผลิดเลเซอร์ชนิดต่างๆออกมามากมาย  ซึ่งมีทั้งที่ทำจาก ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ และจากสารกึ่งตัวนำจำพวกไดโอด
                             
                                                C.H. Townes
          ภาพจาก http://th.physik.uni-frankfurt.de/~jr/physpicexp2.html


เครื่องฉายเลเซอร์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ 
           1. เนื้อวัสดุที่ใช้ทำตัวกลางเลเซอร์ (Laser Medium)
           2. การปั๊มพลังงานทำให้เนื้อวัสดุที่เป้นตัวกลางของเลเซอร์มีสภาพถูกกระตุ้น
           3. Optical Cavity

นอกจากจะมีส่วนประกอบที่สำคัญทั้งสามประการแล้ว เรายังสามารถแบ่งเลเซอร์ออกเป็นชนิดได้ตาม เนื้อวัสดุตัวกลาง ดังนี้ 

ชนิดของเลเซอร์
1.เลเซอร์ของแข็ง
            เลเซอร์ชนิดนี้จะใช้ตัวกลาางที่เป็นของแข็ง โดยเลเซอร์ตัวแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดย ทีโอดอร์ ไมแมน (Theodore Maiman) ก็เป็นของแข็งด้วยเช่นกัน ของแข็งที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลเซอร์ มีทั้ง  เลเซอร์ทับทิม เลเซอร์แย็ค เลเซอร์แก้ว ฯลฯ โดยจะมีการใส่สารเจือปนลงไปในวัสดุดังกล่าวด้วย ทับทิมจะใช้โครเมียมเป็นสารเจือปนส่วนแย็คและแก้วจะใช้นีโอดีเนียมเป็นสารเจือปน
 การปั๊มพลังงานของเลเซอร์ของแข็งจะทำโดยใช้แสงจากหลอดไฟซีนอนหรือหลอดไฟทังสเตนโดยมี Optical Cavity ทำหน้าที่สะท้อนแสงเพื่อเพิ่มโฟตอน

2. เลเซอร์ก๊าซ
            เลเซอร์ชนิดนี้จะนำก๊าซมาทำเป็นตัวกลางของวัสดุ ซึ่งมีก๊าซหลายชนิดที่นำมาใช้เป็นตัวกลางได้เช่น ก๊าซผสมฮีเลียม - นีออน (He - Ne) ก๊าซผสมฮีเลียม - แคดเมียม (He - Cd) ก๊าซผสมคาร์บอนไดออกไซด์ - ไนโตรเจน - ฮีเลียม (CO2-N2-He)
การปั๊มพลังงาน ของเลเซอร์แบบก๊าซจะทำโดยการนำก๊าซบรรจุลงในหลอดเลเซอร์โดยที่ปลายหลอดทั้งสองจะมีขั้วไฟฟ้าต่ออยู่ เมื่อป้อนไฟฟ้าแรงสูงให้แก่ขั้วไฟฟ้าทั้งสอง อิเล็กตรอนจะวิ่งจากขั้ว แคโทด(-) ไปยังขั้วแอโนด(+) เมื่ออิเล็กตรอนวิ่งชนอะตอมหรือโมเลกุลของก๊าซก็จะเกิดการแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า พลาสมา (Plasma) ซึ่งพร้อมจะปล่อยโฟตอนออกมา และเมื่อมีโฟตอนที่มีขนาดเท่ากันไปเร้าก็จะทำให้เกิดแสงเลเซอร์ขึ้น

3.เลเซอร์ของเหลว
            เลเซอร์ชนิดนี้มักจะใช้สีย้อมผ้า(Dye) ผสมน้ำหรือแอลกฮอล์ บรรจุใส่ภาชนะใส ทำให้ตัวกลางของเลเซอร์ชนิดนี้มีสถานะเป็นของเหลว สีย้อมผ้าที่นิยมนำมาใช้เช่น โรดามีน ๖ จี (Rhodamine 6 G) คลอโรฟลูออเรสเซียน (Dichloro fluore scein) เป็นต้น
           การปั๊มพลังงานในเลเซอร์ชนิดนี้จะทำโดยการใช้แสงเช่นเดียวกับเลเซอร์ของแข็ง


4. เลเซอร์ไดโอด
           ไดโอดเป็นสารกึ่งตัวนำ ไดโอดที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวกลางเลเซอร์ เช่นไดโอดจากสาร แกลเลียมอาร์เซไนด์ (GaAs)แกลเลียมอะลูมิเนียมอาร์เซไนด์ (GaAlAs)อินเด ียมแกลเลียมอาร์เซไนด์ฟอสฟายด์ (InGaAsP)
           การปั๊มพลังงานของเลเซอร์ชนิดนี้ จะทำโดยการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านรอยต่อP-N ทำให้เกิดการรวมตัวกันของพาหะนำไฟฟ้าของสารกึ่งตัวนำ และมีการขยายความเข้มด้วย Optical Cavity  ทำให้เกิดแสงเลเซอร์ขึ้น

ประโยชน์ของแสงเลเซอร์
           ในปัจจุบันแสงเลเซอร์กลายเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาศาสตร์ต่างๆบรรลุเป้าหมาย และ เลเซอร์ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง ในคราวที่ Neil Armstrong และ Edwin Aldrin ได้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์พวกเขาได้นำแผงกระจกสะท้อนแสงไปวางไว้ด้วย หลังจากนั้นอีก 10 วันต่อมา คณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและเทกซัสได้ยิงแสงเลเซอร์ไปตกกระทบยังแผงกระจกดังกล่าว ที่ห่างออกไปจากโลกราว 385,000 กิโลเมตร แสงเลเซอร์สะท้อนกลับมาเพียงชั่ววินาที ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณ ความเร็วแสง และระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ
            แม้ในช่วงแรกการพัฒนาวิจัยกับเกี่ยวแสงเลเซอร์จะเน้นไปทางการทหาร แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเลเซอร์กำลังถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกวงการ เหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด แม่นยำ

- ด้านการทหาร
            แสงเลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการชี้เป้าของ เครื่องบิน จรวดนำวิถี รถถังเพื่อให้การดโจมตีเป้าหมายมีความแม่นยำและไม่ก่อผลเสียหายให้แก่บริเวณข้างเคียง
       
- ด้านอุตสาหกรรม 
            เลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการตัด เจาะ เชื่อม ชิ้นงานต่างๆที่ต้องการความละเอียดและมีความแม่นยำสูง ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เลเซอร์สำคัญอย่างมากในการผลิตไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็ก ทั้งยังช่วยให้ขบวนการผลิตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
                       
                                           เลเซอร์ในอุตสาหกรรม
                                 ภาพจาก 
https://newsline.llnl.gov
- ด้านการแพทย์
            แสงเลเซอร์ถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดที่ต้องการความแม่นยำสูง หรือในสภาพที่การผ่าตัดแบบธรรมดากระทำได้ยาก เช่นการผ่าตัดโรคเกี่ยวกับดวงตา สมอง   ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ก็ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลข้างเคียงทั้งยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแผลเป็นหลังการผ่าตัดมากนัก

- ด้านดาราศาสตร์

            แสงเลเซอร์จะทำหน้าที่เพื่อสำรวจความแปรปรวนของอากาศเพื่อช่วยในการปรับโฟกัสของกล้องโทรทัศน์ที่ใช้ดูดาว

- ด้านโทรคมนาคม
            ถือว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของแสงเลเซอร์เพราะเทคโนโลยีแสงเลเซอร์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงเพื่อใช้ถ่ายทอดสัญญาณ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และข้อมูลต่างๆมากมาย จุดเด่นที่สำคัญคือการไม่มีสัญญาณรบกวน และมีความจุของข้อมูลมาก ซึ่งเส้นใยแก้วนำแสง 1 เส้นสามารถ บรรจุคู่สายโทรศัพท์ได้นับพันคู่สายเลยทีเดียว 
           เหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคุณประโยชน์ที่เกิดจากเทคโนโลยีแสงเลเซอร์แสงเลเซอร์ยังสามารถทำอะไรได้มากมาย ในชีวิตประจำวันของเราก็ล้วนแต่ต้องใช้ประโยชน์จากมันเพิ่มขึ้นทุกวันไม่ว่าในเครื่องเล่นแผ่น CD DVD ต่างๆล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากเทคโนโลยีชนิดนี้ นับแต่หลักการเกี่ยวกับแสงเลเซอร์ถูกเสนอโดยซี.เอช.ทาวน์ส (C.H. Townes) ในปีค.ศ. 1954 เทคโนโลยีชนิดนี้ก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาต่อไป จนกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้

  เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว

โดย  Health Plus  first post: Mon 22 March 2010 last update: Mon 22 March 2010 http://www.vcharkarn.com/varticle/40533

การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วย เลเซอร์ ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกต่อไปจริงหรือ มาหาคำตอบ พร้อม กับวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้กัน

 

เลเซอร์ดวงตาให้ชัดแจ๋ว


          การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วย เลเซอร์ ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งแว่นตาอีกต่อไปจริงหรือ มาหาคำตอบ พร้อม   กับวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้กัน
          คุณทำแว่นหายหรือไม่ก็ทำคอนแทค์เลนส์หล่นหายบนพื้นห้องน้ำเป็นประจำ หรือไม่ก็ต้องใช้สายตาเพ่งมองสายรถเมล์จนตาแทบเหล่ เหตุผลเพราะไม่ชอบสวมแว่นในที่สาธารณะ ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำเลเซอร์ตาก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ในแต่ละปีมีคนประมาณ 7 หมื่นคนในอังกฤษ ที่ใช้เลเซอร์ช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตา ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ วิธีดังกล่าวกลายเป็นกระแสหลักในการรักษาความผิดปกติของสายตา ว่าแต่มันเหมาะกับคุณหรือเปล่า

ใครกันที่เหมาะจะทำเลเซอร์ 
          ถ้าคุณป่วยเป็นเบาหวานที่คุมไม่ได้ (uncontrolled diabetes) มีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบประสาท หรือเป็นโรคตาแห้งเรื้อรัง คุณลืมวิธีเลเซอร์ไปได้เลย แต่ถ้าคุณสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์ต่อเนื่อง จึงทำให้สายตาคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนี้เลเซอร์ช่วยคุณได้

          ก่อนรักษาด้วยวิธีเลเซอร์ จักษุแพทย์จะวัดพื้นผิวตาและสแกนดูรายละเอียดต่างๆ ของตาเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเหมาะจะทำเลเซอร์

          การรักษามีหลากหลายขึ้นกับแต่ละคน แต่โดยมากจักษุแพทย์ จะใช้วิธีผ่าตัดด้วยเลเซอร์ กับคนที่มีกำลังการมองเห็นของแว่นตาระหว่าง +2 และ -8 ไดออปเตอร์ แต่การผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะได้ผลดีที่สุด ถ้ากำลังการมองเห็นอยู่ที่ระหว่าง -1/2 ถึง -6

          " ไม่ว่าคลินิกแพทย์จะบอกอะไรกับคุณ จำไว้ว่าการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ให้ผลดีในกรณีที่ความผิดปกติของสายตาที่ต้อง แก้ไขมีไม่มาก" ศจ.จอห์น มาร์แชล ฟรอส ศาสตราจารย์ด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับตาแห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอนกล่าว

ประสิทธิภาพดีแค่ไหน   
          การแก้ไขความผิดปกติของสายตาด้วยเลเซอร์มีให้เลือกหลายวิธี ซึ่งจะไปแก้ไขรูปร่างของกระจกตา (เป็นเลนส์แข็งที่อยู่ด้านหน้าของตา) ปัญหาสายตาเกิดจากการที่กระจกตามีรูปร่างผิดเพี้ยน ทำให้แสงไม่สามารถตกลงบนเรตินาที่ด้านหลังตา ทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพให้ชัดเจน มองเห็นราง ๆ เลเซอร์จะแก้ไขรูปร่างของกระจกตาด้วยการตัดเนื้อเยื่อออกจากตา แต่จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับลักษณะของกระจกตา

          PRK (Photorefractive Keratectomy) นี่เป็นเทคนิคดั้งเดิม การเลเซอร์ด้วยวิธีนี้เจ็บกว่าวิธีอื่น เป็นการใช้เลเซอร์ฉายลงไปตรงกลางกระจกตา หลังขูดผิวกระจกตาออก เนื้อกระจกตาจะถูกตัดหายไป ทำให้ความโค้งของกระจกตาลดลง มีผลให้สายตากลับมาเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้มีสายตาสั้นหรือยาวไม่มาก ใช้เวลาในการรักษานานกว่าวิธีเลสิก

          LASIK (Laser Assisted In Situ Keratomileusis) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา เพื่อทำฝาเปิดชั้นนอก คล้ายการฝานชั้นบนสุดของไข่ต้ม หลังจากนั้นจึงฉายเลเซอร์ลงไปบนชั้นในของกระจกตาโดยตรง แล้วปิดฝากกระจกตากลับลงมาที่เดิม วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวทุกขนาด ข้อดีคือไม่ต้องขูดผิวกระจกตาออกเหมือนวิธีแรก จึงไม่ก่อให้เกิดแผลถลอกเป็นวงกว้างบนกระจกตา อาการเจ็บหรือระคายเคืองตาหลังการรักษาจะน้อยกว่า และแผลจะหายเร็วกว่าวิธีแรก

          LASEK (Laser Epithelial Keramileusis) เป็นเทคนิคล่าสุดที่มาแทนการแยกชั้นกระจกตาอย่าง LASIK เป็นการยิงเลเซอร์ที่ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตา โดยใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการลอกผิวกระจกตาออก ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถขูดผิวกระจกตาลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อยิงเลเซอร์เสร็จ สามารถปิดผิวกระจกตาที่ลอกเป็นแผ่นไว้นั้นกลับไปได้ จากนั้นแพทย์มักให้ผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากจะมีอาการระคายเคืองจากแผลที่กระจกตา ต้องรอจนผิวกระจกตาสมานดีแล้วจึงถอดคอนแทคเลนส์ออก LASEK เหมาะสำหรับการแก้ไขค่าสายตาระดับต่ำ (-4 ไดออปเตอร์หรือต่ำกว่า)

          "ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง การผ่าตัดด้วยการเลเซอร์ช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติดังกล่าวได้"

เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
          เทคโนโลยี Wavefront เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาค่าสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการรักษาค่าสายตาผิดปกติได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เทคโนโลยี Wavefront จะใช้หลักการในการใช้แสงความยาวคลื่นเดียว ไปกระทบที่พื้นผิวของกระจกตาทะลุผ่านไปยังส่วนหลังของลูกตา และสะท้อนกลับจากบริเวณเรตินาออกสู่ภายนอก ค่าของแสงที่สะท้อนกลับออกมา จะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ทำให้แพทย์สามารถสร้างแผนที่ลูกตาได้ ทำให้การรักษาด้วยวิธี LASIK และ LASEK แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคุณภาพในการมองเห็นที่ดีขึ้น

          Wavefront กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากนำไปสู่วิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตา ด้วยการศัลยกรรมที่เรียกว่า super-sight อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้ เดวิด การ์ทรี้ แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลมัวร์ฟิลด์อาย (Moorfields Eye Hospital) ในลอนดอน และเป็นคนแรกที่ใช้วิธี Wavefront รักษาผู้มีสายตาสั้นในอังกฤษเตือนว่า แม้ Wavefront ให้ผลทดสอบการมองเห็นที่เที่ยงตรงแม่นยำ แต่ก็ขึ้นกับคุณภาพของเลเซอร์และการผันแปรในการรักษา Wavefront อาจไม่ทำให้การมองเห็นของคุณชัดแจ๋วก็ได้

ผลกระทบในระยะยาว
          แม้ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ใช้เวลาเล็กน้อยในการรักษา แต่ผลกระทบในระยะยาวยังเป็นที่ตั้งคำถาม "ผลการศึกษาชี้ว่าการรักษาด้วยวิธี PRK และ LASEK จะทำให้สายตาคงที่ ขณะที่ LASIK ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน" ศจ.จอห์น มาร์แชล แห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน กล่าว "PRK และ LASEK ใช้แค่การขูดผิวกระจกตา แต่ LASIK เป็นการตัดผ่านความหนาของตาถึง 1/3 เราจึงไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของลูกตาหรือไม่"

          แต่ เดวิด การ์ทรี้ เชื่อว่าตราบที่คนเรายังทำตามคำแนะนำที่แพทย์สั่ง อย่าใช้วิธีผ่าตัดที่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อออกไปเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่น่าจะมีปัญหาตามมาในอนาคต "หากคุณเข้ารับการผ่าตัดและมีแผลเป็นหลงเหลือ แผลเป็นนั้นอาจจะหายไปเองหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่หาย ก็อาจจะกลับมากำเริบได้ ภายในเวลา 10 ปี" เขากล่าว "ไม่มีใครการรันตีได้ว่าภายใน 10 ปีนับจากนี้สายตาของคุณจะไม่กลับมามีปัญหาอีก แต่สำหรับผมคงทึ่งมาก ถ้าการรักษาด้วยเลเซอร์ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว"

ข้อดี   
          สะดวก
          ส่วนมากคนสายตาสั้นจะเริ่มสวมแว่นในช่วงต้นวัยรุ่น ดังนั้นช่วง 2-3 ปี แรกให้สวมแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ดีกว่า นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของตาเสื่อมลง นั่นหมายความว่าเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ตอนกลาง คุณต้องการแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือและแว่นตาสำหรับมองไกล

          " ตาของคุณจะแห้งลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นการใส่คอนแทคเลนส์จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่คนในวัย 50 จะใส่คอนแทคเลนส์ แต่ต้องสวมแว่น" เดวิด การ์ทรี้ อธิบาย

          "นั่นหมายความว่าคนวัย 50 จำเป็นต้องมีแว่นตา 2 อัน และบ่อยครั้ง ที่พวกเขาหันไปพึ่งการผ่าตัด เพื่อให้เหลือแค่แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือเพียงอันเดียว"

          สำหรับคนที่สายตาสั้นไม่มาก มีวิธีรักษาที่เรียกว่า โมโนวิชั่น (monovision) นั่นหมายความว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องมีแว่นตาสองอัน

          "ในระหว่างผ่าตัด เราจะไม่แก้ไขสายตาสั้นให้ตาทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อให้ตาข้างหนึ่งสามารถมองไกล และอีกข้างสำหรับอ่านหนังสือ" เดวิด คาร์ทไรท์ ผู้อำนวยการด้านบริการของบู๊ทส์ออฟติเชี่ยน (Boots Optician) กล่าว

          "คนส่วนมากจะไม่รู้เลยว่าตาข้างไหนเป็นแบบไหน เราให้คนไข้ลองสวมคอนแทคเลนส์สัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อดูผล ซึ่งพวกเขาจะรู้ว่ามันได้ผลกับพวกเราหรือไม่"

          รวดเร็ว ไม่เจ็บ
          เทคนิคล่าสุดในการแก้ไขความผิดปกติของสายตามีความรวดเร็วและไม่เจ็บ "คนส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น" เดวิด คาร์ทไรท์ บอกในระหว่างผ่าตัดด้วยเลเซอร์ คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ แม้บางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายบ้าง คนไข้บางคนบอกว่าสายตาของเขาดีขึ้นเกือบจะในทันที และการมองเห็นจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในวันรุ่งขึ้น

          ฟื้นตัวเร็ว
          ระยะเวลาในการรักษาตัวแตกต่างกัน สำหรับคนที่ทำ LASIK เพียงแค่สวมเกราะครอบตาหนึ่งคืนหลังออกจากคลินิก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยี้ตา และใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะนาน 2-3 สัปดาห์ LASEK และ PRK ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า คนไข้ต้องใส่ซอฟท์คอนแทคเลนส์ เพื่อป้องกันขณะรักษาตัว

          การแก้ไขระยะยาว
          เมื่อการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ผ่านไปอย่างราบรื่น ผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจ "ตาจะเข้าที่เป็นปกติหลังผ่านไป 1 เดือน สายตาจะคงที่" เดวิด คาร์ทไรท์กล่าว "คนที่สวมแว่นตาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจะขาดแว่นไม่ได้ LASIK เป็นวิธีแก้ไขความผิดปกติของสายตาแบบถาวร หากใช้กับคนเหมาะสม ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงชีวิต"

          "การรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า monovision ซึ่งทำให้คุณไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสองเลนส์อีก"

ข้อเสีย    
          ไม่รับรองความชัดแจ๋ว
          "สิ่งสำคัญที่คนคาดหวังคือหลังแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์แล้ว การมองเห็นจะชัดแจ๋ว แต่นั่นอาจทำให้คุณผิดหวังได้" เดวิด การ์ทรี้ กล่าว

          หากการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง ประมาณ 5% ของคนไข้ที่ต้องกลับมาแก้ไขสายตาใหม่ "เราไม่ต้องการทำให้คนสายตาสั้นมีสายตายาว เราจะแก้ไขสายตาโดยปรับสายตาให้สั้นน้อยลงอีกเล็กน้อย ถ้ายังชัดไม่พอ เราจะผ่าตัดซ้ำให้อีก โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด" เดวิด คาร์ทไรท์ อธิบาย

          ยังต้องพึ่งแว่นตา
          การผ่าตัดสายตาด้วยเลเซอร์โดยเฉพาะในรายที่มีอายุ 40 และ 50 ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถโยนแว่นตาทิ้งลงขยะได้ "เราจะไม่ใช้การรักษาด้วยเลเซอร์กับคนที่มีสายตาเป็นปกติมาตลอดชีวิต แต่ต้องมาใส่แว่นอ่านหนังสือตอนอายุเข้าเลข 4 คนเหล่านี้ไม่เหมาะกับวิธีนี้ เพราะจะไปทำลายการมองเห็นระยะไกล" เดวิด การ์ทรี้กล่าว

          ราคาแพง
          การแก้ไขสายตาให้ดีขึ้นด้วยเลเซอร์มีราคาสูงประมาณ 30,000-60,000 บาท ขึ้นกับตา 1 ข้างหรือ 2 ข้าง เลเซอร์ยังเหมาะกับคนที่มีปัญหาในการใส่แว่นตาเช่น เป็นโรคพาร์กินสัน หรือเป็นโรคในกลุ่มทำลายเซลล์ประสาท ที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในร่างกาย (Motor Neuronedisease)

          ผลข้างเคียง
          ผลข้างเคียงมีหลากหลายตั้งแต่ตาแห้งไปจนถึงตาฟาง ตามัว มองเห็นภาพเบลอๆ "ประมาณ 30% ของคนไข้จะรู้สึกตาแห้งและเคืองตาเหมือนมีผงเข้าตาหลังผ่าตัดเสร็จ แต่อาการดังกล่าจะหายไปเองภายในหนึ่งเดือน" เดวิด การ์ทรี้กล่าว

          "ความบกพร่องอีกประการคือปัญหาเทคนิคในการผ่าตัด หากการผ่าตัดไม่เรียบร้อยหรือแม่นยำเพียงพอ หรือมีอะไรผิดปกติที่เครื่องมือผ่าตัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 คน แต่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดใด ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แทบทั้งสิ้น"

          เพื่อให้การรักษาได้ผลเป็นเลิศ ขอรับคำแนะนำจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ     

          อย่าตัดสินใจเลือกคลินิกเลเซอร์ตามคำโฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเพียงอย่างเดียว

          ไปคลินิกที่ให้ริการพร้อมคุยกับจักษุแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด ในบางคลินิกคุณจะไม่ได้พบแพทย์จนกว่าจะผ่าตัด ระวัง...นี่คือข่าวร้าย เพราะคุณอาจเจอปัญหาตามมาได้

          อย่าอายที่จะตั้งคำถาม ถามแพทย์ผู้ผ่าตัดว่าเขาเคยผ่าตัดคนไข้มากี่รายแล้ว แล้วพบปัญหายุ่งยากบ้างไหม

          อย่าสร้างความกดดันให้ตัวเองในการตัดสินใจ อย่าไขว้เขวไปกับคำยุยงส่งเสริมที่ให้คุณควรผ่าตัดในวันนั้นวันนี้

          ทำตามข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังการผ่าตัดที่คลินิกแนะนำ

          หากมีอาการผิดปกติหลังผ่าตัด ควรไปพบแพทย์ทันที เดวิด การ์ทรี้แนะ "มีปัญหามากมายที่แก้ไขได้ง่าย ควรเปิดโอกาสให้แพทย์ได้ลงมือแก้ไข"


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากHealth Plus



 


สร้างเว็บแบบมืออาชีพได้อย่างง่ายๆ กับ เว็บไซต์สำเร็จรูปของ " สยามทูเว็บ " www.siam2web.com


เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อน เข้าสู่ระบบ
..

Advertising Zone    Close
 
Online:  3
Visits:  369,999
Today:  42
PageView/Month:  1,353

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com