..แหล่งเรียนรู้ด้านการสื่อสารอีกแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า HS7ZRF

 

 

เว็บบอร์ดไฟฟ้าน่ารู้รู้จักอาชีพวิศวกรไฟฟ้า
ผู้เขียน : พีรวิช วรรณทอง   หัวข้อ : รู้จักอาชีพวิศวกรไฟฟ้าอ่าน 5601 / ความคิดเห็น 0
รูปประจำตัว
พีรวิช วรรณทอง
  • 1 กระทู้ที่เริ่มไว้
  • 5 สิงหาคม 2554
รูปไอคอน
หัวข้อ : รู้จักอาชีพวิศวกรไฟฟ้า
8/8/2554 0:55:00

 

 

 

รู้จักอาชีพวิศวกรไฟฟ้า

นิยามอาชีพ 
           ออกแบบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์กับส่วนประกอบทางไฟฟ้า รวมทั้งการวางแผนและการควบคุมการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การบำรุงรักษา การวิจัย การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงแก้ไขและการซ่อม การจัดให้มีการใช้พลังงาน  ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงาน : วางแผนผังระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ;จัดทำตารางปฏิบัติงาน เขียนแบบร่าง แบบวาด และแผนทางไฟ เตรียมข้อมูลและรายละเอียดในการทำงาน และระบุวิธีการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้ง วัสดุ และเครื่องมือที่จะต้องใช้ : ประมาณค่าแรงงาน ค่าวัสดุ ค่าผลิต ค่าก่อสร้าง ค่าติดตั้ง และค่าดำเนินการ;ทดสอบเพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลักษณะการปฏิบัติงานที่ตรงตามรายละเอียดที่ระบุไว้ความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน และมาตรฐานอื่นๆ; วางแผนและควบคุมการใช้และการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงการให้คำแนะนำและการฝึกอบรมการปฏิบัติงานทางวิศวกรรมไฟฟ้า

ลักษณะของงานที่ทำ 
           1.  ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ต้องปฏิบัติ
           2.  ออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์กับส่วนประกอบทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
           3.เตรียมข้อมูลและรายละเอียดในการทำงาน และระบุวิธีการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้งวัสดุ และเครื่องมือที่ต้องใช้ ประมาณค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าผลิต ค่าก่อสร้าง ค่าติดตั้ง และค่าดำเนินการ
           4.  วางแผนและควบคุมการผลิต  การก่อสร้าง  การติดตั้ง การทดสอบ   การใช้ การบำรุงรักษา การพัฒนา การเปลี่ยนแปลง แก้ไข และการซ่อม
           5.  วางแผนผังระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับอุปกรณ์ต่างๆ
           6.จัดทำตารางปฏิบัติงานเขียนแบบร่าง แบบวาด และแผนทางไฟ
           7.ทำการตรวจตราและทดสอบเพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลักษณะการปฏิบัติงานที่ตรงตามรายละเอียดที่ระบุไว้ ความปลอดภัย ตามเกณฑ์มาตรฐานและมาตรฐานอื่นๆ
           8.  วางแผนและควบคุมการใช้ การบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ เช่นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีพลังงาน
           9.ให้คำแนะนำและทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางวิศวกรรมไฟฟ้า



สภาพการจ้างงาน 
           ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และอาจจะมีค่าวิชาเพิ่มให้สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ อัตราเงินเดือนโดยทั่วไปในหน่วยงานราชการเดือนละ 7,260 บาท ในภาคเอกชนเดือนละ12,000 - 15,000บาท ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติ งานและภารกิจขององค์กรธุรกิจนั้นๆ และจะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามอัตราที่องค์การธุรกิจกำหนดไว้เป็น มาตรฐาน  ถ้าทำงานในหน่วยงานของรัฐจะ ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ประจำปีตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้โดยปกติ ปฏิบัติงานวันละ  8 ชั่วโมง อาจต้องทำงาน วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน

สภาพการทำงาน 
           ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้จะทำงานในที่มีสภาพเหมือนที่สถานที่ทำงานทั่วไป คือเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไปแต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานการติดตั้ง การตรวจตรา การทดสอบ และการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ในสถานประกอบกิจการให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องทำงานนอกสถานที่ด้วย โดยผู้ปฏิบัติงานในระดับวางแผนจะทำงานในภาคสนามร้อยละ 30 และในสำนักงานร้อยละ 70 ในระดับจัดการโดยเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานจะทำงานในภาคสนามร้อยละ 50 และในสำนักงานร้อยละ 50 ในระดับตรวจสอบคุณภาพโดยจะเป็นผู้ตรวจสอบความเรียบร้อยถูกต้องของงาน จะทำงานในภาคสนามร้อยละ  90 และในสำนักงานร้อยละ 10   

           สำหรับวิศวกรไฟฟ้าที่ทำงานในบริษัทรับเหมาการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบ ไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการทั่วไปมักจะต้องทำงานประจำที่สถานที่ในลักษณะงานภาคสนาม ซึ่งอาจต้องเดินทางไปประจำที่สถานประกอบกิจการนั้นจนกว่างานที่รับเหมาจะแล้วเสร็จ

           ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้อาจต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งหรือในที่ร่ม ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ต้องปฏิบัติงาน และอาจจะสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ 
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
           1.วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า  คณะวิศวกรรมศาสตร์
           2. ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่องานอาชีพ เช่นตาบอดสี
           3. มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร สามารถทำงานกลางแจ้ง
           4.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณ มีความละเอียด รอบคอบ
           5. มีความเป็นผู้นำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
           6. มีความมั่นใจในตนเองสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้  
           ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่  6 หรือเทียบเท่าที่ประสงค์จะประกอบอาชีพนี้ จะต้องสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตร4ปี ในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหรือผู้สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตร วิชาชีพ(ปวช.)ศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)หลักสูตร  2ปี ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร2ปี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า  คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีและรับโอนหน่วยกิตของผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี 

           เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วสามารถที่จะขอหรือสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบอาชีพได้ที่กองวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสังกัดกระทรวงมหาดไทย



โอกาสในการมีงานทำ 
           ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ สามารถรับราชการหรือทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น หรือทำงานในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทรับเหมาติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าทั่วไปหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจทำให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและ การก่อสร้างของสถานประกอบกิจการต่างๆ ต้องชะลอ หรือชะงักไป การลงทุนในการขยายกำลังการผลิตลดลงงานการติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบการต่างๆ ลดลง มีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนี้ทำให้ความต้องการวิศวกรไฟฟ้าที่รับงานติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบการคงที่ แต่ยังมีงานซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการทั่วไปที่ยังต้องการใช้ผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้า (BTS) รถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่ระหว่างดำเนินการเมื่อแล้วเสร็จจะมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เข้าทำงาน

           เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว สถานประกอบกิจการหรือโรงงานต่างๆ ขยายตัวขึ้น  และการลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น การขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าย่อยในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เช่น โรงงานไฟฟ้าย่อยราชบุรี  เป็นต้น คาดว่าความต้องการวิศวกรไฟฟ้าในตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ 
           วิศวกรไฟฟ้าที่รับราชการสามารถได้รับการเลื่อนขั้นและตำแหน่งได้จนถึงระดับ สูงสุดในสายงานตามเงื่อนไขระเบียบราชการ และผู้ที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือในโรงงาน อุตสาหกรรมทั่วไปก็จะได้รับการเลื่อนขั้นและเงินเดือนตามความสามารถและ ประสบการณ์จนถึงระดับผู้บริหาร สำหรับผู้ที่ทำงานในบริษัทรับเหมาในการ ติดตั้งระบบไฟฟ้า เมื่อมีประสบการณ์และมีความชำนาญจะสามารถทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการที่ มีระดับจำแนกตามขนาดของสถานประกอบกิจการและความยากง่ายของงานในแต่ละโครงการสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ และมีเงินทุนมากพอก็สามารถที่จะประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการ หรือรับเหมาติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าตามสถานประกอบกิจการทั่วไป

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง 
           วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรโทรคมนาคม

แหล่ง ข้อมูล
สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี 
http://www.kmutt.ac.th 
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
http://www.kmit.ac.th 
การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

คุยกับวิศวกร

รู้จักอาชีพวิศกร : 

            สำหรับน้องๆ ที่สนใจในวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้า ผมจะเล่าประสบการณ์ว่าในอาชีพสายช่างหรือวิศวกร เราต้องเจออะไรบ้าง เพราะว่าการทำงานนั้น จินตนาการอาจจะบอกว่านั่งในออฟฟิศหรู เป็นดีไซน์เอ็นจีเนีย ทำงานเป็นนักวิชาการ อันนั้นก็เป็นเส้นทางหนึ่งซึ่งอาจจะไปได้  แต่สำหรับวิชาชีพนี้คำว่าวิศวกรก็คือ หัตถ์ของพระศิวะ ก็คือผู้สร้างโดยนัยยะ หรือความหมายที่แท้จริงแล้ว ทุกอย่างเราต้องทัชเบสก่อน ก็คือต้องทำด้วยมือก่อน ไม่ใช่เริ่มจาการไปนั่งโต๊ะทำงานดีไซน์ ผมเชื่อว่าน้องๆที่มีความฝันที่จะเข้ามาสู่อาชีพนี้ ลึกๆ แล้ว บางท่านก็อยากเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ก็คือเป็นดีไซน์เอ็นจีเนีย นั่งอยู่ในห้องออกแบบ บางท่านก็ต้องการคุมคน ก็เพราะงานของวิศวกรก็คือเป็นทั้งเปเปอร์เวิร์ค แล้วก็เป็นนักฝันแล้วก็เป็นนักสานฝัน สานฝันในเชิงสร้างอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง นักฝันก็คือพวกดีไซน์ นักสานฝันก็คือเอาดีไซน์ขึ้นมาอิมพรีเมนท์ให้เป็นจริง 2 ทางนี้เราเลือกเอานะครับ แต่ผลสุดท้ายแล้วบั้นปลายบางคนก็อยากเป็นนักบริหาร



การทำงานในสายอาชีพวิศกรไฟฟ้า : 

            อาชีพเอ็นจีเนียจริงๆนั้น เราเป็นได้ทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่แอพพายไซน์ ก็คือเอาความรู้ทางด้านวิทยาการมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เอามาใช้ได้จับต้องได้ อย่างเช่น นักฟิสิกส์ก็คิดค้นทฤษฎีควอนตัม วิศวกรก็เอาทฤษฎีควอนตัมมาทำเป็นประโยชน์ อย่างเช่นปัจจุบันนี้ หลอด LED มันเป็นควอนตัมฟิสิกส์ วิศวกรก็เอามาออกแบบจนกระทั้งเป็น TV LED เบื้องต้นเอาหลอด LED มาสำหรับทำโมชั่นดีเทคเตอร์ เอามาทำเป็นประตูอัตโนมัติคนเดินผ่านประตูเปิดแล้วก็พัฒนาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเป็นรูปภาพ อันนั้นเรียกว่าอยู่ในฝั่งของซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์



หลักสำคัญในการประกอบอาชีพวิศกรไฟฟ้า : 

            สิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือการคุมคน การคุมคนจะต้องใช้ความเป็นมนุษย์ (Humanity) ค่อนข้างสูง เราก็ใช้แบ็กกราวน์ทางด้านเอ็นจีเนียเข้ามาดูด้วย ที่เราต้องทุ่มเทก็คือ เราต้องสอนสิ่งที่เราเรียนเรียนรู้มาทางวิชาชีพให้กับทีมงานของเราซึ่งบางท่านก็ไม่ได้จบวิศวะ หรือปริญญาตรี เป็นเทคนิเชียนมีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้มือใช้ไม้ ทักษะ เราก็มาแชร์ประสบการณ์กันเพื่อสร้างงานออกมา แต่ละขั้นตอนก็กินเวลา 5 ปี 10 ปี แต่สิ่งสำคัญนอกเหนือจากนั้นก็คือ เราต้องมี อินสปายเรชั่น (Inspiration) ก็คือต้องมีความฝัน ต้องตามฝันให้เจอ ถ้าหาความฝันของตนเองไม่เจอ น้องๆจะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพ เพราะแต่ละอาชีพ มันมีความหมายและความสำคัญในตัวเองทุกอาชีพ ไม่ได้หมายความว่าอาชีพวิศกรเป็นอาชีพที่เลิศหรู มันก็เป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง แต่มันตรงกับความฝันของน้องหรือเปล่า ถ้าตรงก็ยินดีต้อนรับเข้าสู่อาณาจักรของอาชีพวิศวกร เพราะว่าถ้าเป็นวิศวกรจริงๆ ประการที่หนึ่ง คือต้องใช้ตรรกะค่อนข้างสูง ห้ามใช้อารมณ์ 1+1 มันต้องเป็น 2 มันไม่ใช่ 2.1 หรือ 2.2 ประการที่สอง เราเป็นหัตถ์ของพระศิวะ เราต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบในสิ่งที่เราต้องทำ เมื่อเราทำไปแล้ว สิ่งที่เราทำไปนั้นอาจจะสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ประการที่สาม คือเราต้องมีความอดทน เพราะเป็นอาชีพที่ใช้ทั้งสมองและแรงงานค่อนข้างสูง 



            ผมยังจำได้ว่าวันแรกที่ผมเริ่มทำงาน มันก็เหมือนกุลีดีๆ คือเริ่มจากกวาดพื้นโรงงาน ก็คือคนอื่นเขาทำอย่างไร เราก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะว่า อินสปายเรชั่น (Inspiration) ของผมคือ ต้องการเป็นนักบริหารในสายอาชีพอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปให้ถึงตรงนั้นได้ เราต้อง Set มาตั้งแต่วันแรกว่า เราเข้ามาสู่อาชีพนี้ เราจะเป็นอะไร เราจะเป็นแค่ worker คนหนึ่ง หรือเราจะเป็นดีไซน์ หรือจะเป็นบุคคลธรรมดาในโรงงานนั้น แต่จริงๆแล้วทุกคนมีความฝัน แต่บอกออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง เพราะตัวผมเอง ณ วันแรก ผมก็ไม่ได้นึกว่าผมฝันทางนี้ แต่ทำไปเรื่อยๆ จุดแต่ละจุดมันต่อออกมาทำให้สิ่งที่ฝันอยู่ใน ซับคอนเชียส (Subconscious) หรือว่าในจิตใต้สำนึกเรามันชัดขึ้น จนทราบว่าเราต้องการอย่างนี้ เราต้องการเป็นอย่างนี้ เราต้องการเป็น Leader เป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมที่เราอยู่ มันก็เริ่มตั้งแต่เราทัชเบสก่อน ทำงานเหมือนกับทุกคนแล้วไต่ขึ้นมา เพราะการสร้างการยอมรับไม่ได้เกิดจากนามสกุล ไม่ได้เกิดจากปริญญาบัตรที่เราถือมา แต่มันเกิดจากการปฎิบัติตัวของเรา เราจะต้องสร้างการยอมรับจากทีมงานด้วยการปฏิบัติตัว ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ให้ ไม่ใช่รับ ก็คือมีอะไรต้องให้ ต้องแชร์ ถ้าเรามีคุณสมบัติตรงนั้น ผมว่าเป็นผู้นำได้




แนะนำน้องๆที่สนใจอาชีพวิศกรไฟฟ้า : 

            ผมมาพูดความฝันของเอ็นจีเนีย (engineer) คนหนึ่งว่า ถ้าคุณอยากเป็นเอ็นจีเนีย เข้ามาเลยครับ แต่คุณจะต้องมี1. ความอดทน  2. ต้องเป็นคนใจกว้าง 3. ต้องเสียสละ เป็นผู้ให้ และประการสุดท้าย คุณต้องหาฝันของคุณให้เจอ คุณอย่าทิ้งมันกลางคัน เพราะถ้าทิ้งมันกลางคัน อาชีพนี้มันอาจจะพอเลี้ยงตัวได้ แต่มันจะทำให้คุณไปไม่ถึงจุดที่คุณฝันก็ได้ เพราะว่าอาชีพนี้รายได้มันไม่ได้สูงอย่างที่คิดเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง แต่ถ้าอยากจะทำธุรกิจส่วนตัวโอเคอาจจะไปได้ดี แต่ถ้าเป็นลูกจ้างหรือทำงานในองค์กรก็แค่เลี้ยงตัวได้ น้องๆ ก็ลองดูก็แล้วกันนะครับว่าแต่ละท่านมีความฝันอะไร แล้วก็ต่อจุดความฝันนั้นไปให้ถึง..



 


สร้างเว็บแบบมืออาชีพได้อย่างง่ายๆ กับ เว็บไซต์สำเร็จรูปของ " สยามทูเว็บ " www.siam2web.com


เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อน เข้าสู่ระบบ
..

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  368,486
Today:  27
PageView/Month:  2,216

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com