..แหล่งเรียนรู้ด้านการสื่อสารอีกแห่งหนึ่งของข้าพเจ้า HS7ZRF

 

 

เว็บบอร์ดสาระน่ารู้ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวย
ผู้เขียน : พีรวิช วรรณทอง   หัวข้อ : ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวยอ่าน 4194 / ความคิดเห็น 0
รูปประจำตัว
พีรวิช วรรณทอง
  • 1 กระทู้ที่เริ่มไว้
  • 5 สิงหาคม 2554
รูปไอคอน
หัวข้อ : ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวย
7/8/2554 23:24:00

 

ก๊าซธรรมชาติ..พลังงานใส เพื่อโลกสวย

 

 

  ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดรวมเข้าด้วยกัน อาทิ ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซอีเทน (C6H4)  ก๊าซโพรเพน  (C3H8)  ก๊าซบิวเทน  (C4H10)   แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป นอกจากนั้นยังอาจประกอบด้วยก๊าซอื่นๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรซัลไฟด์ ก๊าซไนโตรเจน และน้ำ เป็นต้น

 

 

              ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติแต่ละชนิดจะมีสถานะที่ต่างกัน กล่าวคือ ก๊าซมีเทนและก๊าซอีเทน (ก๊าซแห้ง) จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ส่วน ก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน (ก๊าซชื้น) จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ แต่เมื่อถูกเพิ่มความดันบรรจุลงในถังก๊าซจะเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว เรียกว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas หรือ LPG) ซึ่งก็คือก๊าซหุงต้มที่ใช้กันในครัวเรือนนั่นเอง ส่วน เพนเทน เฮกเซน เฮปเทน และอ๊อกเทน มีสภาพเป็นของเหลว เรียกรวมกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสท (Condensate) ซึ่งสามารถแยกออกจากก๊าซธรรมชาติได้บนแท่นผลิตและขนส่งโดยใช้การลำเลียงทางเรือหรือส่งตามท่อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป

คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ
               สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และเผาไหม้ได้หมดจดกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น
               ปลอดภัย เบากว่าอากาศ (ความถ่วงจำเพาะ 0.5-0.8 เท่าของอากาศ) เมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นสูง โอกาสติดไฟยากและติดไฟได้เองในอุณหภูมิที่สูงมากถึง 540 องศาเซลเซียส
               เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น


การใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ
แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง
              ก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ในระบบผลิตพลังงานความเย็นร่วมกับไฟฟ้า (Gas District Cooling and Co-generation) ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ เหล็ก กระจก ฯลฯ และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง ก็สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ได้ เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles – NGV)


2. ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  
              โดยการนำก๊าซธรรมชาติไปผ่านกระบวนการแยกในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพราะในเนื้อก๊าซธรรมชาติมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์อยู่มากมาย เมื่อผ่านกระบวนการแยกก๊าซฯ จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ก๊าซธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ที่ควรรู้จัก
               ก๊าซธรรมชาติที่ขนส่งโดยทางท่อ (Pipe natural Gas)  เรียกชื่อทางการตลาดว่า Sales Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ ถูกขนส่งด้วยระบบท่อเพื่อส่งให้กับผู้ใช้ที่เป็นลูกค้า นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือในโรงงานอุตสาหกรรม

               ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles – NGV) คือ รูปแบบการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อจะนำมาใช้งานก๊าซฯ จะถูกอัดด้วยความดันสูงประมาณ 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และบรรจุในถังที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ บางครั้งจึงเรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด หรือ CNG (Compressed Natural Gas) สรุปว่า NGV และ CNG ก็คือก๊าซธรรมชาติอัดตัวเดียวกันที่ใช้กับรถยนต์นั่นเอง  

               ก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas – LPG) หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทนเป็นองค์ประกอบหลัก นิยมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเพราะให้ค่าความร้อนสูง ก่อนนำไปใช้งานจะถูกอัดด้วยความดันให้เป็นของเหลว บรรจุในถังทนแรงดัน สะดวกแก่การขนส่ง


               ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) คือ ก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของ “ของเหลว” เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลๆ จากแหล่งผลิตที่การขนส่งทางท่อฯ ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยมีกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งปริมาตรจะลดลง 600 เท่า บรรจุลงถังชนิดพิเศษเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงสถานะในรูปของเหลว สามารถขนส่งได้ในปริมาณมาก

เปรียบเทียบคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้ม

 

ข้อเปรียบเทียบ  ก๊าซธรรมชาติ  ก๊าซหุงต้ม
ความปลอดภัย มีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากเบากว่าอากาศ
เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้ง
กระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว 
มีความปลอดภัยน้อย เนื่องจากหนักกว่า
อากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล
จะกระจายอยู่ตามพื้นราบ
ความพร้อมในการนำมาใช้งาน  สถานะเป็นก๊าซ นำไปใช้ได้เลย  สถานะเป็นของเหลว ต้องทำให้เป็นก๊าซ
ก่อนนำไปใช้งาน
ประสิทธิภาพการเผาไหม้  เผาไหม้ได้สมบูรณ์  เผาไหม้ได้สมบูรณ์
คุณลักษณะของเชื้อเพลิง  ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เผาไหม้ปราศจากเขม่า
และกำมะถัน 
ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น โดยทั่วไปจะเติม
สารเติมกลิ่นเพื่อความปลอดภัย
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ  ไม่ต้องสร้างถังเก็บสำรองเชื้อเพลิง  ต้องมีถังเก็บสำรอง ต้องสั่งซื้อ
เชื้อเพลิงล่วงหน้า

 

               ก๊าซชีวิภาพ (Biogas) เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิต ทั้งซากพืช ซากสัตว์และของเสียจากสัตว์ รวมถึงขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ โดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในสภาวะที่ปราศจากออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน (CH4)  50-70% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  30-50% ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซอื่นๆ เช่น แอมโมเนีย  (NH3)  ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S)  และไอน้ำ เป็นต้น

               City Gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ แรงดันต่ำในเขตเมืองเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน สำหรับนำไปเป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหารด้วยเตาแก๊ส เตาอบ หรือ หม้อหุงข้าวทดแทนก๊าซหุงต้ม ใช้ในการผลิตน้ำหรือหรือไอน้ำเพื่อการซักรีดในโรงแรมหรือเพื่อฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล รวมถึงใช้ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น (District Cooling and Cogeneration System) ในอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ

แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
              ประเทศไทยนำก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งผลิตในประเทศถึงร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักๆ ได้แก่
              1. ทะเลอ่าวไทย อาทิ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ ฯลฯ เป็นต้น 
              2. บนบก ได้แก่ แหล่งน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และแหล่งภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี
              3. นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ แหล่งยาดานา แลแหล่งเยตากุน จากสหภาพพม่า
              4. พื้นที่ทับซ้อน ได้แก่ แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)

 

 

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

 

 

ก๊าซธรรมชาติมีสถานะเป็นก๊าซ การขนส่งทางท่อจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัย สะดวกและประหยัดกว่า สามารถต่อท่อเข้าสู่โรงงานเพื่อใช้ได้ทันที

 

 

วิธีการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
               1. สำรวจและรวบรวมข้อมูล : รวบรวมข้อมูลพื้นที่การวางท่อส่งก๊าซฯ
               2. จัดเตรียมพื้นที่วางท่อส่งก๊าซฯ : ปกติจะเตรียมพื้นที่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ให้มีความกว้างประมาณ 15 เมตร เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ พร้อมทั้งปรับระดับผิวดินให้เรียบสม่ำเสมอ
               3. ขนย้ายท่อส่งก๊าซฯ : ใช้รถบรรทุกขนย้ายท่อส่งก๊าซฯ จากลานเก็บท่อไปยังพื้นที่วางท่อ โดยจะนำท่อมาวางเรียงต่อกันตามแนวร่องที่ขุด
               4. ขุดร่อง : ใช้รถขุด โดยความลึกของร่องขึ้นกับขนาดของท่อและมาตรฐานความลึกตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการก่อสร้าง โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำ 1 เมตร และหากวางในเขตทางของกรมทางหลวงจะลึกอย่างน้อย 1.5 เมตร ดินชั้นบน (Top Soil) จะถูกแยกไว้ต่างหากเพื่อนำมากลบผิวดินภายหลัง
               5. ตัดท่อ : แนวทางการวางท่อจะต้องมีโค้งตามแนวหรือโค้งตามระดับของร่องที่ขุด ดังนั้นจึงต้องมีการตัดท่อเพื่อให้ท่อวางตัวในแนวที่ถูกต้อง
               6. เชื่อมท่อส่งก๊าซฯ และการเอ๊กซเรย์ : โดยปกติท่อส่งก๊าซฯ จะมีความยาวท่อนละ 12 เมตร ในการเชื่อมท่อระหว่างการก่อสร้างจะต้องต่อท่อแต่ละท่อนก่อนโดยการเชื่อมและตรวจสอบความสมบูรณ์ทุกรอยเชื่อม 100%
               7. เคลือบท่อภายนอก : วัสดุที่ทำการเคลือบมีหลายชนิดและหลายวิธี โดยมีการกำหนดไว้ในมาตรฐาน ASME B31.8 เช่น Gusion Bond Epoxy, High Density Polyethylene เพื่อป้องกันสนิทและการผุกร่อนบนรอยเชื่อมอีกครั้ง
               8. นำท่อลงสู่ร่องขุด : ใช้รถแทรกเตอร์ยกหิ้วท่อและวางท่อลงในร่องขุด กรณีพื้นร่องเป็นหิน จะต้องรองด้วยดินหรือทรายเพื่อกันการกระแทกก่อน
               9. กลบท่อ : ในกรณีที่ท่ออยู่ในแนวหินหรือดินหยาบต้องใช้ทราบรองรับก่อน แล้วกลบท่อด้วยดินที่ขุดขึ้นมาระหว่างการขุดร่องและทำการอัดแน่นพอควร เพื่อให้คืนสภาพเดิมของพื้นที่และจะมการนำเอาดินชั้นบน (Top Soil) กลับมากลบที่ผิวดินเพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ง่าย
               10. ปรับพื้นที่คืนสู่สภาพเดิม : หลังการกลบท่อ จะปรับสภาพพื้นที่และภูมิทัศน์ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนมีการวางท่อ ยกเว้นการปลูกไม้ยืนต้นจะหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันรากไม้ชอนไชสารเคลือบผิวท่อ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนแสดงแนวเขตบนหลังท่อตลอดแนว
               11. วางท่อผ่านทางน้ำ แม่น้ำ – ลำคลอง ถนน หรือทางรถไฟ : จะพิจารณาจากความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการดำเนินการ โดยอาจใช้วิธีขุดเปิดวิธีดันท่อลอด หรือเจาะลอด เป็นต้น


วิธีการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล
               ท่อส่งก๊าซธรรมชาติแต่ละท่อนจะถูกนำมาต่อกันและเชื่อมบนเรือวางท่อ เมื่อทำการเชื่อมและผ่านการตรวจสอบความสมบูรณ์ด้วยวิธีเอ็กซเรย์เสร็จแล้ว เรือวางท่อจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและทำการวางท่อลงบนพื้นท้องทะเล โดยปล่อยให้จมลงเองด้วยน้ำหนักลงในร่องที่ขุดแล้วปล่อยให้พื้นทรายกลบท่อเองตามธรรมชาติ (ความลึกของการขุดร่องจะขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละพื้นที่)

มาตรฐานความปลอดภัยของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

1. วัสดุ และข้อกำหนดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
               • เป็นท่อเหล็กกล้า (Steel) ที่มีความแข็งแรงสูงผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบ
ก่อนส่งมอบ
               • ขนาด ความหนาของท่อและการฝังลึกจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งานและสภาพพื้นที่ และเป็นไป
ตามมาตรฐานสากล อาทิ บนพื้นที่ภูเขาและในพื้นที่ชุมชนฝังลึก 1-1.5 เมตร ส่วนพื้นที่ลอดใต้ถนน ฝังลึก 3 เมตร เป็นต้น


2. การป้องกันการผุกร่อน
               • ท่อส่งก๊าซฯ ที่ใช้ต้องมีการเคลือบผิวภายนอกท่อ เพื่อป้องกันการผุกร่อน (Corrosion Coating) โดยเฉพาะท่อในทะเลจะต้องมีการพอกด้วยคอนกรีตเพื่อเพิ่มน้ำหนักและป้องกันการกระแทก รวมถึงการตรวจสอบการรั่วของท่อโดยใช้แรงดันน้ำ
               • ใช้ระบบป้องกันการผุกร่อนด้วยไฟฟ้า (Cathodic Proection) ซึ่งออกแบบให้มีอายุการใช้งาน 40 ปี


3.    ระบบควบคุมการทำงานระบบท่อฯ และการสื่อสาร
               • ระบบการส่งก๊าซฯ จะถูกควบคุมการทำงานและตรวจสอบโดยผ่าน ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquistion System) หรือระบบ SCADA ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี มีพนักงานควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง
               • สถานีควบคุมก๊าซฯ (Block Valve Station) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลความดัน อุณหภูมิ และปริมาณการไหลของก๊าซฯ เป็นระยะตลอดแนวท่อ ซึ่งหากมีเหตุผิดปกติ อุปกรณ์เปิด-ปิดวาล์วจะทำงานโดยการสั่งการจากศูนย์ปฏิบัติการโดยตรง ผ่านระบบสื่อสารหลัก เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบใยแก้วนำแสง ระบบวิทยุ และโทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมโยงทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบดาวเทียมเป็นระบบสำรอง


4.      การตรวจสอบท่อ
               • ใช้รถยนต์ตรวจการณ์ตรวจสอบตามแนวท่อบินสำรวจ หรือเดินตรวจตารมแนวท่อ เพื่อสังเกตดูร่องรอยของสภาพแวดล้อม
               • การตรวจสอบสภาพภายในท่อด้วยอุปกรณ์กระสวยอีเล็คโทรนิคส์ หรือ Intelligent PIG (PIG : Pipeline Inspection Gauge) ใส่เข้าไปในท่อ และวิ่งตรวจสอบภายในท่อตลอดแนว พร้อมบันทึกข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ผล สามารถระบุตำแหน่งพิกัดเฉพาะจุดที่คาดว่าจะเสียหายก่อนล่วงหน้าและจำเป็นต้องซ่อมแซมได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจำดำเนินการทุกๆ 5 ปี


5.    การเติมกลิ่นก๊าซฯ (Odorant)
               • โดยสารเติมกลิ่นเรียกว่า Ethyl Mercaptan มีกลิ่นเหม็น เพื่อเป็นการเตือนให้คนรับรู้หากเกิดการรั่วของก๊าซฯ เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่ใช้เติมในก๊าซหุงต้มในครัวเรือน

การแยกก๊าซธรรมชาติ
               การแยกก๊าซธรรมชาติ สามารถนำไปผ่านกระบวนการแยกก๊าซในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อแยกสารประกอบ ไฮโดรเจนคาร์บอน ได้แก่ ก๊าซมีเทน ก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน ก๊าซบิวเทน ฯลฯ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ
               โรงแยกก๊าซธรรมชาติจะทำหน้าที่แยกส่วนประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนที่มีคุณค่าออกมา เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ก่อนจัดส่งก๊าซมีเทนที่เหลือไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม

การแยกสารที่ไม่ใช่สารประกอบไฮโดรคาร์บอน
               ก๊าซธรรมชาติมักจะมีสารประกอบอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอนปะปนมาด้วย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  , น้ำ (H2O)  และปรอท (Hg ) โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมี CO2 ปนอยู่สูงถึงร้อยละ 14-20 โดยปริมาตร และในกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ ต้องใช้อุณหภูมิต่ำๆ (~-1000C ) ซึ่งจะทำให้น้ำและ CO2 แข็งตัวทำให้ท่ออุดตัน ดังนั้นจึงต้องกำจัดออกโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ดังนี้

                หน่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Benfield Unit) ใช้สารละลายโปตัสเซียมคาร์บอเนต (K2CO3) ดูดซึม CO2  ออกจากก๊าซธรรมชาติ จากนั้นนำสารละลายโปตัสเซียมคาร์บอเนตที่อิ่มตัวด้วย CO2  มาลดความดันและเพิ่มอุณหภูมิ ทำให้  CO2 ถูกปล่อยออกมา และสามารถนำสารละลายโปตัสเซียมคาร์บอเนตกลับมาใช้ได้อีก
                หน่วยกำจัดความชื้น (Dehydration Unit) เป็นวิธีการใช้ Molecular Sieve ซึ่งเป็นสารมีรูพรุนสูงดูดซับน้ำ   ออกจากก๊าซธรรมชาติ
                หน่วยกำจัดสารปรอท (Mercury Removal Unit) ทำหน้าที่กำจัดสารปรอทที่ปนเปื้อนมากับก๊าซธรรมชาติเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซ และอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค


การแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอน
               วิธีการแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนใช้หลักการเดียวกับการกลั่น คือ เปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลว แล้วปรับอุณหภูมิของก๊าซธรรมชาติที่เป็นของเหลวให้มีอุณหภูมิเดียวกับจุดเดือดของก๊าซแต่ละชนิดที่ต้องการแยก ซึ่งแบ่งเป็น 2 หน่วย คือ

                หน่วยแยกก๊าซเหลวรวม (Ethane Recovery Unit) ก๊าซธรรมชาติที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ จะถูกส่งเข้าอุปกรณ์ Turbo Expander เพื่อลดความดันและอุณหภูมิ ทำให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นของเหลว และส่งต่อไปยังหอกลั่นมีเทน (Demethanizer) ทำหน้าที่แยกก๊าซมีเทน (C1) ออกจากก๊าซธรรมชาติ เรียกผลิตภัณฑ์ส่วนนี้ว่า Sales Gas


                หน่วยแยกผลิตภัณฑ์ (Fractionation Unit) ประกอบด้วยหอแยกก๊าซอีเทน (Deethanizer) เพื่อแยกก๊าซอีเทน (C2) และส่งก๊าซผสมไฮโดรคาร์บอนส่วนที่เหลือไปยังหอกลั่น Depropanizer ซึ่งจะแยกก๊าซโพรเพน (C2) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (C3+C4)  และก๊าซโซลีนธรรมชาติ  (C5+)

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ก๊าซมีเทน (CH4) ประโยชน์
               • ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม
               • ใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ
               • ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี


ก๊าซอีเทน (C2H6) ประโยชน์
               • ใช้ผลิตเอทิลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ที่นิยมนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก หลอดยาสีฟัน ขวดพลาสติกใส่แชมพู และเส้นใยพลาสติกชนิดต่างๆ 

ก๊าซโพรเพน C3H8 ประโยชน์
               • ใช้ผลิตโพรพิลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ที่นิยมนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางในห้องเครื่องยนต์ หม้อแบตเตอรี่ กาว สารเพิ่มคุณภาพ และน้ำมันเครื่อง
               • ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม


ก๊าซบิวเทน (C4H10) ประโยชน์
               • ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
               •  นำมาผสมกับโพรเพนเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม)


ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (โพรเพน+บิวเทน) ประโยชน์
               • เป็นเชื้อเพลิงหรือก๊าซหุงต้มในครัวเรือนและเชื้อเพลิงในรถยนต์
               • เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
               • ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเช่นเดียวกับก๊าซอีเทน และก๊าซโพรเพน


ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (C5+) ประโยชน์
               • ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมตัวทำละลาย
               • ใช้ผสมเป็นน้ำมันเบนซินสำเร็จรูป
               • ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี


ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตเป็นน้ำแข็งแห้ง หรือ Dry Ice ประโยชน์
               • ใช้ในอุตสาหกรรมหล่อเหล็ก
               • ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาทิ น้ำอัดลมและเบียร์
               • ใช้ในการสร้างควันในอุตสาหกรรมบันเทิง อาทิ การแสดงคอนเสิร์ต หรือ การถ่ายทำภาพยนตร์
               • ใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหารระหว่างการขนส่ง
               • ใช้ทำน้ำยาดับเพลิง ฝนเทียม ฯลฯ

 

 

ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

 

 

 บริษัท  ปตท.  จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร โดยดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจและผลิต การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากทั้งในและต่างประเทศ การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อการแยกก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติไปยังลูกค้าภาคต่างๆ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติทั้งในและ ต่างประเทศ และการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ใช้ความชำนาญในการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดสายโซ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและ LNG อย่างครบวงจรได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานร่วม เป็นต้น

                 ด้วยเหตุผลนี้ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. จึงมุ่งเน้นการรักษาความสามารถเชิงแข่งขัน โดยการสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติการ และการบริหารจัดการธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการดำเนินการควบคุมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
                 หลังจากประเทศไทยได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเป็นแหล่งแรกปตท. ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่บ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยการเริ่มนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เพื่อรองรับและสนองความต้องการก๊าซธรรมชาติในภาคต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. จึงได้วางโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติเชื่อมต่อจากแหล่งก๊าซธรรมชาตอในอ่าวไทยเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการคมนาคมขนส่ง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ภาพระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

 

 

 

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักของ ปตท.
ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล

 

 

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

 


 

ขอบเขตความรับผิดชอบการดำเนินงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
                 เพื่อให้การควบคุมและการบริหารงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อชุนชนมากที่สุด จึงได้มีการแบ่งความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตะวันตก ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตะวันออก และฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลส่วนปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล โดยมีศูนย์ควบคุมปฏิบัติการชลบุรี ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี

ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี
                 มีหน้าที่ควบคุมการรับ-ส่งก๊าซฯ จากผู้ผลิตสู่ลูกค้าตลอดแนวท่อทั้งหมดทั่วประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรีแห่งนี้มีภารกิจที่สำคัญในการควบคุมและวางแผนปฏิบัติ การรับ-ส่งก๊าซฯ สนับสนุนงานวิศวกรรมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ดูแลควบคุมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ดูแลสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาณก๊าซฯป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติโดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ (SCADA) ผ่านระบบสื่อสาร เช่น ระบบไมโครเวฟ เคเบิลใยแก้วนำแสง หรือระบบดาวเทียม เป็นต้น

ขอบเขตความรับผิดชอบของการดำเนินงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติประกอบด้วย
ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต1
                 ตั้งอยู่ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรีเริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2524 รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพฯโดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 611 กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต2
                 ตั้งอยู่ที่ ต. สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2526 รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรี และกรุงเทพฯ โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 375 กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต3
                 ตั้งอยู่ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2524รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ จ.ระยอง และ ชลบุรี โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 148 กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต4
                 ตั้งอยู่ที่ ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2533 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำพองไปยังโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 3 กิโลเมตร
 
ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต5
                 ตั้งอยู่ที่ ต.สามเรือ อ.เมือง จ.ราชบุรี เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2541 รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ จ.ราชบุรี และนครปฐม โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 173กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต6
                 ตั้งอยู่ที่ แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2548รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 86 กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต7
                 ตั้งอยู่ที่ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2551 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ จากโรงแยกก๊าซฯ จะนะ ไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 8 กิโลเมตร

 

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต8
                 ตั้งอยู่ที่ ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2551 โดยแยกมาจากส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 5 รับผิดชอบครอบคลุมในเขตพื้นที่ชายแดนไทยบ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ไปยังโรงไฟฟ้า จ.ราชบุรี โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 178 กิโลเมตร

                 นอกจากนี้ยังมี ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเล ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลผู้ผลิตในอ่าวไทยทุก แหล่ง ผ่านระบบท่อในทะเลไปยังสถานีชายฝั่งและระบบท่อประธานบนบกไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จ.ระยอง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา โดยมีความยาวท่อในความรับผิดชอบปัจจุบัน 1975 กิโลเมตร

 


 

หน้าที่ความผิดชอบหลักของส่วนปฏิบัติการระบบท่อ
                 
ควบคุมและดูแลการ รับ-ส่งก๊าซฯ จากผู้ผลิตผ่านระบบท่อประธานและท่อในทะเลให้แก่ลูกค้าตามสัญญาและข้อลง

                 
ตรวจและบำรุงรักษา ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในลักษณะเชิงป้องกัน อาทิการตรวจสภาพการผุร่อนของท่อส่งก๊าซฯ การทำความสะอาดท่อโดยการ Run PIG และการตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซฯ ในระบบรวมทั้งสถานีควบคุมก๊าซฯ ทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐาน

                 
กำกับ ดูแล บำรุงรักษา ระบบเครื่องมือวัดและระบบควบคุม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถส่งก๊าซฯ ให้ลูกค้าได้อย่างถูกต้อง

                 
ป้องกันและระงับ เหตุฉุกเฉินของระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ (SCADA)

                 
กำกับ ดูแล การสร้างมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบบความปลอดภัยแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ (Block Valve Station) 
                 สถานีควบคุมก๊าซฯ แต่ละแห่งจะมีระบบควบคุมอุปกรณ์การส่งก๊าซฯที่สามารถสั่งการโดยระบบ SCADA ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี และส่วนปฏิบัติการส่งก๊าซฯ ในเขตต่างๆ โดยศูนย์ปฏิบัติการชลบุรีเป็นศูนย์ควบคุมหลัก มีพนักงานควบคุมการทำงานของระบบการส่งก๊าซฯ ตลอด 24 ชั่วโมง

ระบบสื่อสาร
ระบบและอุปกรณ์สื่อสารใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย เพื่อให้ระบบทั้งหมดมีความมั่นคงสูงสุด ทั้งนี้ระบบสื่อสารประกอบด้วย

                 
ระบบไมโครเวฟ เป็นระบบสื่อสารที่ใช้เป็นระบบหลักของศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี และส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต2และ3 
                 
ระบบใยแก้วนำแสง  วางฝังมากับแนวท่อส่งก๊าซฯ ปัจจุบันเป็นระบบสื่อสารหลักของระบบท่อส่งก๊าซฯ ในภาคตะวันตก และอยู่ระหว่างการขยายระบบนี้ให้ครอบคลุมระบบท่อส่งก๊าซฯ ทั้งหมด
                 
ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นระบบที่ใช้กรณีระบบหลักไม่สามารถใช้งานได้
                 
ระบบวิทยุ UHF และ VHF ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวท่อส่งก๊าซฯ
                 
ระบบโทรศัพท์ภายในของ ปตท. และระบบภายนอก
                 
ระบบ GPRS ใช้ในการรับส่งข้อมูลระหว่าง RTU ของสถานี NGV และ AMR กับระบบ SCADA 

รางวัลแห่งความภาคภูมิ ใจ
                 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสารถและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานตามแนวทางกรอบเกณฑ์ TQA อย่างต่อเนื่อง จนสามารถได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) 3 ปีติดต่อกัน ( 2550-2552 ) นอกเหนือไปจากรางวัลสถานประกอบการดีเด่นฯ ISO 9001 ISO 14001 มอก./OHSAS 18001 และ ISO/IEC 170125 

ร่วมดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
                 นอกเหนือจากภารกิจหลักด้านพลังงาน หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ยังคงมีส่วนร่วมในการการดูแลชุนชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่แนวท่อการส่งก๊าซธรรมชาติและพื้นที่ใกล้เคียง อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อการเติบโตเคียงคู่กันอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ ต่างๆ อาทิ

                 •รถนิทรรศการเคลื่อนที่เปิดโลกก๊าซธรรมชาติ และ เปิดโลกปิโตรเลียม โครงการนิทรรศการการสัญจร เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติให้แก่เยาวชน
                 
โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนจัดทำโครงการวิชาชีพสำหรับให้นักเรียนฝึกหัดและนำ ไปประกอบเป็นอาชีพได้เช่น โครงการเลี้ยงปลา โครงการปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น
                 
โครงการอาหารกลางวัน โดยมอบข้าวสารแก่โรงเรียนที่อยู่ใกล้แนวท่อส่งก๊าซฯ เพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียน
                 
โครงการ 5รส และสิ่งแวดล้อม ปตท. ก๊าซธรรมชาติสู่เยาวชน โดยนำความรู้เรื่องการบริหารกิจกรรม 5รส เข้าไปเผยแพร่แก่ครู นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนให้เรียนรู้การดำเนินกิจกรรม 5รส อย่างถูกต้องและยั่งยืน
                 
โครงการมอบทุนการศึกษานัก เรียนที่เรียนดีในระดับต่างๆ และสนับสนุนกิจกรรมวันเด็ก
                 
โครงการค่ายเยาวชนอนุรักษ์ พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยจัดค่ายเยาวชนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนบริเวณแนว ท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
                 
โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อตรวจและรักษาสุขภาพอนามัยชาวบ้านที่อยู่มนชุนชน
                 
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในหมู่ บ้านตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-สหภาพพม่า ระยะที่4 ของสมคมพัฒนาประชากรและชุนชน เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนว ท่อส่งก๊าซธรรมชาติโดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน

 



สำนักงานของส่วนปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท.

ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี
59 หมู่ที่ 8 ถ.บายพาส ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 5000; 0 3827 4390-5 โทรศัพท์สำหรับฉุกเฉิน 03837 4398 โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ 5014-5; 0 3827 6390

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต1
59 หมู่ที่ 8 ถ.บายพาส ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000โทรศัพท์ 0 2537 2000ต่อ 5048-9; 0 3827 4390-5 ต่อ 5048-58โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ5058; 0 3827 4390-5 ต่อ 5048-58

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต2
71 หมู่ 2 ถ.พหลโยธินต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 13170 โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 5802; 0 3572 3020-9 โทรศัพท์สำหรับเหตุฉุกเฉิน0 3572 3033
โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ 5802; 0 3572 3039

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อ เขต3
555 หมู่ที่2 ถ.สุขุมวิท ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง 2150 โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 6040; 6044; 0 3867 6043-4 โทรสาร 02537 6045; 0 2537 6055

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต4
222 ถ.เขื่อนอุบลรัตน์ ต.กุดน้ำใส อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น 40310 โทรศัพท์ 0 4337 3435-9 กด 0 โทรสาร 0 4337 3440

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต5
111 หมู่ที่ 7 ถ.เพชรเกษม ต.สามเรือน อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000 โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 5931; 0 3231 7371 -9 โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ 5909; 0 3231 7385

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต6
555 ถ.กัลปพฤกษ์ แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 โทรศัพท์ 0 2537 4500; 0 2537 4533 โทรสาร 0 2537 1605

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต7
1/6 หมู่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา 90130 โทรศัพท์ 0 7449 6082-3 ต่อ 701 โทรสาร 0 7449 6089

ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต8
หมู่6 บ้านไทรทอง ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150 โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 5990 # 116, 304 โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ 5990 # 105; 0 2537 2000 ต่อ 4683

ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อก๊าซฯในทะเล
59 หมู่ 8 ถ.นายพาส ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 โทรศัพท์ 0 2537 2000 ต่อ 5273; 0 3827 4390-5 ต่อ 5273 โทรสาร 0 2537 2000 ต่อ 5274; 0 3827 4390-5 ต่อ 5274

 

 

ความปลอดภัยของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

 

 

ในช่วงเวลาประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาของโลกในทุกๆ ด้านมากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้แทนที่ถ่ายหินและน้ำมัน จากคุณสมบัติที่แตกต่างจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียนอื่นก๊าซธรรมชาติ ได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสมสำหรับโลกในวันนี้และอนาคตเนื่องจากเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งอวดล้อม

 


 

                ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ทั้งพลังงานความร้อนและแสงสว่าง ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในการคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม หรือใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และยังสามารถนำไปใช้ในระบบทำความเย็นได้ด้วย

แนวโน้นการใช้พลังงานของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2548-2558

 


 

                จากภาพจะเห็นได้ว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาติและแหล่งพลังงานอื่นๆ มีแนวโน้นจะเพิ่มสูงขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า ในขณะที่การใช้พลังงานของประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มที่ 5% CAGR (Compound Annual Growth Rate) และก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานทางเลือกของประเทศไทยอีกด้วย และมีปริมาณการใช้เพิ่มโดยรวมเกือบ 8% ต่อปีในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2548-2558

                สำหรับการใช้พลังงานในโลกจะเติบโตต่อเนื่องและผันแปรตามจำนวนประชากรที่ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย จะเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานสูงสุด อัตราการเติบโตของการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 1.8-2.3% ต่อปี และในพ.ศ. 256 สัดส่วนการใช้พลังงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นก๊าซธรรมชาติ 28% จากปัจจุบันอยู่ที่ 24% ส่วนน้ำมันจะมีอัตราการเติบโตต่อปีลดลงเหลือ 1.6 % 

                ทั้งนี้ เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันจะไม่ลดลงไปกว่าเดิม คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีของก๊าซ ธรรมชาติมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้สามารถจัดข้อจำกัดของการใช้ก๊าซธรรมชาติเดิมที่มีการจำกัดการใช้ เฉพาะประเทศไทยที่อยู่ใกล้แหล่งธรรมชาติ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ก๊าซธรรมชาติก้าวขึ้นมาเป็นเชื้อเพลิงหลักของ โลกในศตวรรษนี้ คือ
                เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่ นำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเผาไหม้สะอาด
                
ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้าน
                
มีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน
                
มีราคาถูกว่าเป็นเชื้อเพลิง ปิโตรเลียมอื่นๆ เช่น น้ำมัน น้ำมันเตา และปิโตรเลียมเหลว
                
สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
                
ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ใช้ใน ประเทศไทยผลิตได้เองจากแหล่งในประเทศ

 

 

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
                จากความต้องการก๊าซธรรมชาติที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การผลิตมีจำกัด ดังนั้นในการนำก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟ ลุกไหม้ และระเบิดได้มาใช้ประโยชน์นั้น จำเป็นต้องใช้การขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สำคัญต้องเป็นระบบที่สามารถนำก๊าซธรรมชาติไปสู่มือผู้บริโภคได้อย่าง ปลอดภัยและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด การขนส่งก๊าซธรรมชาติในสถานะของก๊าซ จึงเหมาะสมที่จะใช้กระบวนขนส่งโดยระบบท่อมากที่สุด เนื่องจากเป็นเวลานาน ที่สำคัญคือ แยกออกจากการขนส่งมวลชนโดยเด็ดขาด

                วิวัฒนาการของการขนส่งก๊าซธรรมชาติโดยระบบท่อ เมขึ้นตั้งแต่ 900 ปีก่อนคริสตกาล โดยชาวจีนเริ่มใช้กระบอกไม้ไผ่ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐอเมริกามีการค้นพบก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2359 หรือเมื่อ 194 ปีที่แล้ว โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างบนถนนบัลติเตอร์ มลรัฐแมรี่แลนด์ ต่อมาเมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จึงมีการวางเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติอย่างจิงจังตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2463 โดยเฉพาะในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 282 ปัจจุบันมีการวางเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติรวมกันทั้งโลกมากกว่า 1ล้านกิโลเมตร โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในอเมริกาเหนือและอีก 1 ใน 4 อยู่ใน ยุโรปตะวันตก

                ประเทศไทยได้นำระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเวลากว่า 25 ปี มาแล้ว โดย ปตท. ได้รับมอบหมายให้วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยมายังชาย ฝั่งระยอง เป็นระยะทางประมาณ 415 กิโลเมตรและวางท่อบนบกจากจังหวัดระยอง เลียบถนนสายหลักส่งตรงไปยังผู้ใช้ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ การจำหน่ายให้ลูกค้า ปัจจุบันท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยมีระยะทางรวมกันกว่า 3500 กิโลเมตร

                ตลอดแนวเส้นทางของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีก๊าซธรรมชาติบรรจุอยู่เต็มตลอดแนวท่อ และมีการขนส่งตลอด 24 ชั่วโมง ใช้หลักการขนส่งจากแรงดันสู่แรงดันต่ำ โดยทั่วไปมีขนาดตั่งแต่ 4 นิ้วไปจนถึง 42 นิ้ว และมีแรงดันตั้งแต่ 200 ปอนด์ต่อตารางนิ้วจนถึง  1870 ปอนด์ต่อตารางนิ้วหรือแรงดันระหว่าง 14-130 เท่าของแรงดันบรรยากาศแนวเส้นทางวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ผ่านพื้นที่ เกษตรกรรม ชุนชน พื้นที่ข้างทางหลวง หากมีการดำเนินการใดๆ จากภายนอกไปกระทบจะนำไปสู่อุบัติเหตุและเกิดอันตรายได้

 

สถิติและสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
                ในการดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ ก่อสร้างปฏิบัติการ และการบำรุงรักษา เพื่อให้ชุนชนรอบพื้นที่มีความมั่งใจและปลอดภัยสูงสุด

                จากการรวมข้อมูลอุบัติเหตุจากท่อส่งก๊าซฯ พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ท่อส่งก๊าซฯ แตก หัก หรือรั่วมาจากการกระทำของบุคคลภายนอกด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้อง ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติคุณสมบัติโดยทั่วไป ประโยชน์และโทษ รวมทั้งวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง

 

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
                
จากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ  อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เกิดได้จากปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดการผุกร่อนภายใน  โดยการลำเลียงสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนปนมากับก๊าช (Sour Gas : Sulphur Dioxide ) หรือเกิดจากการผุกร่อนภายนอก อาจมาจากวัสดุหุ้มท่อรุด และระบบป้องกันการผุกร่อนของท่อด้วยกระแสไฟฟ้าบกพร่องแต่ที่ผ่านมาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุนี้
               
จากการกระทำของบุคคลที่สาม  เช่น จากการตอกเสาเข็มหรือการใช้เครื่องจักรกลหนักเข้าไปขุกตอก เจาะตักดินในบริเวณที่มีท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝังอยู่ และไปกระทบต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
               
จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง การทรุดตัวของแผ่นดินอย่างรุนแรงจนทำให้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้รับความเสียหาย เป็นต้น แต่ที่ผ่านมา ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุนี้

                จากข้อมูลทางสถิติของ ปตท. ที่ได้รวบรวมอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติของประเทศตั้งแต่เริ่มมีการขนส่ง ก๊าซธรรมชาติผ่านท่อกว่า 29 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ. 2524-2553  ) พบว่าประเทศไทยยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากท่อก๊าซธรรมชาติรุนแรงจนถึงขั้นมี ผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดจากบุคคลที่สาม หรือปัจจัยภายนอก ซึ่งในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ปตท. สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

 


 

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุท่อส่ง ก๊าซฯแตก/รั่ว
                จากคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติที่ติดไฟได้ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ใช่สารเป็นพิษ แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในท่ออาจมีส่วนประกอบของไฮโดรคาร์บอนหนัก เช่น เฮกเซน เพนเทน ฯลฯ หรืออาจมีสารปนเปื้อนจากกระบวนการแยกก๊าซฯ หรือขนส่งก๊าซฯ อยู่ด้วย หรือหากเป็น Sour Gas ทีมีกำมะถันปนอยู่มาก จึงทำให้ก๊าซธรรมชาติอาจมีกลิ่นอยู่บ้าง นอกเหนือจากกลิ่นที่เติมเข้าไปสัญญาณเตือนสำหรับผู้ใช้ กรณีเกิดก๊าซฯ รั่วทั้งนี้ อันตรายที่จะเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุท่อก๊าซฯ แตกหรือรั่วอาจนำไปสู่ภาวะดังต่อไปนี้

                กลิ่น/ภาวการณ์ขาดออกซิเจน เมื่อท่องส่งก๊าซฯ รั่ว และมีก๊าซฯ ฟุ้งกระจายไปในอากาศจำนวนมาก หากสูดดมนานๆ จะทำให้เกิดการวิงเวียนศีรษะ หากสูดดมมากเกิดไปจนเข้าไปแทนที่ออกซิเจน ทำให้หมดสติได้ ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ผายปอดแล้วนำส่งแพทย์ทันที ทั้งนี้ มาตรฐานความปลอดภัยของการใช้ก๊าซธรรมชาติได้กำหนดให้มีการเติมกลิ่นเข้าไปใน ก๊าซฯ เพื่อเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ใช้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุก๊าซฯ รั่ว โดยกำหนดหลักการว่าสารที่เติมนั้นจะต้องไม่ทำให้คุณสมบัติของก๊าซฯ เปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปนิยมใช้สารเมอร์แคปแทน ซึ่งมีกลิ่นกำมะถันฉุนคล้ายไข่เน่า

                เสียง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดค่ามาตรฐานระดับเสียงในบรรยากาศโดย ทั่วไปในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15( พ.ศ. 2540) ว่าระดับเสียงใน 24 ชั่วโมง มีค่ามาตรฐานที่ระดับต่ำกว่า 70 เดซิเบล  หากท่อส่งก๊าซฯ เกิดอุบัติเหตุรั่วไหลด้วยความดันสูง ควรอพยพผู้คนออกจากบริเวณนั้น เพราะหากอยู่ใกล้เป็นเวลานาน  อาจส่งผลกระทบต่อระบบการได้ยิน

                แรงดัน ภายในท่อส่งก๊าซฯมีแรงดันสูง หากอยู่ติดชิดกับท่อในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ จะทำให้ก๊าซฯ พุ่งเข้ามาสัมผัสปะทะกับร่างกายโดยตรงอาจทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

                ความร้อน/ไหม้ หากเกิดอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซฯ รั่วหรือแตกด้วยเหตุสุดวิสัยใดๆ ก็ตาม โอกาสที่จะเกิดการติดไฟได้มีน้อยมากเนื่องจากท่อส่งก๊าซฯ ฝังลึกลงไปใต้ดินและสถานีควบคุมก๊าซฯ ซึ่งมีอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง โอกาสที่ก๊าซฯรั่วและจะติดไฟได้ต้องมีองค์ประกอบครบในสัดส่วนที่เหมาะดังนี้
                   ♦ จุดวาบไฟ 1880C
                   
♦ ช่วงการติดไฟ 5- 15 ของปริมาตรในอากาศ
                   
♦ อุณหภูมิที่สามารถติดไฟฟ้าได้เอง 537-5400
                   
♦ สัดส่วนในการติดไฟ(อากาศ : ก๊าซ) 10:1

                ก๊าซธรรมชาติที่บรรจุอยู่ในท่ออาจก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นหลังการฝังกลบท่อจะติดตั้งป้ายเครื่องหมายแสดงแนวท่อท่อส่งก๊าซฯ บนบก เพื่อแสดงตำแหน่งของท่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของ ปตท. เพื่อนแจ้งเหตุผิดสังเกต ซึ่งถือเป็นมาตรการเบื้องต้นของการร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย
 
การระงับเหตุ
                ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยระยะทางกว่า 3500กิเมตร จากแหล่งในอ่าวไทย แหล่งบนบกที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รวมทั้งแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน จากสหภาพพม่า โดยวางทอดยาวใต้พื้นท้องทะเล พาดผ่านเขตทางหลวงแผ่นดินใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพื้นที่ป่า เขตชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อนำก๊าซธรรมชาติพลังงานสะอาดจากใต้พิภพขึ้นมาใช้ให้เกิดคุณค่าสูงสุด

                ตลอดแนวท่อส่งก๊าซฯ ในทุกสภาพพื้นที่ อยู่ภายใต้การดูแล บำรุงรักษาและการปฏิบัติตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เริ่มตั้งแต่การดูแลโดยสถานีควบคุมก๊าซฯ ที่ทำหน้าที่ ควบคุมการไหลของก๊าซฯ ในท่อส่งก๊าซฯ ทุกเส้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น ปตท. ยังจัดให้มีศูนย์กลางการควบคุมทั้งหมดอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี จ .ชลบุรี และการควบคุมดูแลท่อส่งก๊าซฯในแต่ละพื้นที่ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อตั้งอยู่

                อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินงานของระบบท่อส่งก๊าซฯมีเสถียรภาพมีความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน ปตท. ได้จัดทำแผนระงับเหตุฉุกเฉินของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติขึ้น สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสียที่อาจจะเกิดต่อบุคคล ชุมชน และสภาพแวดล้อม รวมถึงทำให้เหตุการณ์ฉุกเฉินกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดด้วย

ข้อควรปฏิบัติของชุนชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซฯรั่ว
               
 ออกจากบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุท่อส่งก๊าซฯ รั่วไปทางเหนือลมทันที
               
 ห้ามขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ผ่านกลุ่มก๊าซฯ ที่รั่ว
               
 หลีกเลี่ยงการทำให้เกิด ประกายไฟ หรือความร้อนซึ่งเป็นสาเหตุให้ก๊าซฯลุกติดไฟ รวมทั้งสตาร์เครื่องยนต์หรือแม้แต่เปิด-ปิดสวิตช์ไฟฟ้า
               
 โทรศัพท์แจ้ง ปตท. ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในป้ายเตือนให้เร็วที่สุดพร้อมทั้งบอกสถานที่เกิดเหตุ และลักษณะการการรั่วของก๊าซฯ ที่พบเห็น

การประกันภัย
                ปตท. ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุการดำเนินงานของ ปตท. ในวง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อการเกิดอุบัติเหตุหนึ่งครั้งโดยพิจารณาจ่ายตามฐานานุรูปของผู้ประสบเหตุ

ข้อดีของการขนส่งก๊าซธรรมชาติโดยระบบท่อ
                
เป็นระบบขนส่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ สามารถลดปริมาณการสูญหายของพลังงานพลังงานระหว่างการขนส่ง
                
มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีควบคุมการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาตามระบบมาตรฐานสากล
                
ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
                   -ก๊าซฯในท่อจะมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับพื้นดินโดยรอบท่อส่งก๊าซฯและใกล้เคียง กับอุณหภูมิของบรรยากาศโดยรอบ
                   -การเคลื่อนตัวของก๊าซฯในระบบท่อฝังใต้ดินจะไม่ส่งเสียงดังรบกวนชุมชนโดยรอบ/ใกล้เคียง
                   -ลดปริมาณความหนาแน่นของการจราจรในระบบขนส่งมวลชนทั่วไป
                
ลดต้นทุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เลือกใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในระยะยาว เนื่องจากไม่ต้องมีต้นทุนในการเก็บสำรวง (ไม่ต้องสร้างถังเก็บ/ไม่ต้องเชื้อก๊าซฯมาเก็บสำรอง)
                
สามารถขนส่งได้ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง

 

 

บทสรุป
                เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปกว่าการขนส่งก๊าซธรรมชาติโดยระบบท่อมีกระบวนการทำ งานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุดระบบหนึ่ง เนื่องจากมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 100 ปีสามารถขนส่งได้เป็นจำนวนมาก โอกาสที่ก๊าซธรรมชาติจะสูญหายระหว่างการขนส่งเกิดขึ้นได้น้อย มีความสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญช่วยลดปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุและลดมลพิษทางอากาศได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นที่แยกออกมาจากขนส่งมวลชยอย่างเด็ดขาด

                นอกจากนั้น หลังการทำงานของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้กำหนดพื้นฐานความปลอดภัยที่มุ่ง คำนึงถึง “ประชานชน”และ “ชุนชน” เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่มาตรฐานการออกแบบ การก่อสร้างการใช้งานและการบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน ที่มีความปลอดภัยสูงสุด

                อย่างไรก็ดี ภายในท่อเหล็กกล้าที่บรรจุก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟ ลุกไหม้และระเบิดได้ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดียวกับอุบัติเหตุจากการขนส่งมวลชน โดยระบบอื่นๆ แต่จากสถิติอุบัติเหตุการขนส่งโดยระบบต่างๆ พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติมีปัจจัยเสียงน้อยที่สุด ที่จะเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ส่งก๊าซธรรมชาติเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของบุคคลภายนอก จึงจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนควรช่วยกันดูแลท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทรัพย์สินของชาติให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  และ วิชาการ.คอม
โดย ชุดความรู้เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ เล่มที่ 3
http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx  



 


สร้างเว็บแบบมืออาชีพได้อย่างง่ายๆ กับ เว็บไซต์สำเร็จรูปของ " สยามทูเว็บ " www.siam2web.com


เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อน เข้าสู่ระบบ
..

Advertising Zone    Close
 
Online:  2
Visits:  370,047
Today:  90
PageView/Month:  1,401

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com